บินต่อไม่ไหว นกตะขาบดง ผจญ PM 2.5 ฟุ้ง ร่วงตกใจกลางเมือง
ปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 ลุกลามหนัก สัตวแพทย์ โพสต์เฟซบุ๊กเล่าเจอ นกตะขาบดง ตัวเต็มวัย ปอดอักเสบ ตกจากท้องฟ้า ใกล้สวนลุมพินี คุณหมอ ระบุ เป็นตัวชี้วัด คุณภาพอากาศในเขตเมือง อย่างดี
10 มีนาคม 2566 นายเกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงปัญหาผลกระทบจากค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ตอนนี้ไม่ได้แค่เล่นงานประชาชนคนอย่างเราๆ ทั่วไปแล้วเท่านั้น
เพราะล่าสุด ทางคุณหมอได้ เปิดเผย เคสของ “นกตะขาบดง” (Oriental Dollarbird) สัตว์ปีกขนาดเล็ก จะงอยปากสีแดง และจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทย อ่อนแรงและพลัดตกลงมาหน้าบ้านผู้คนบริเวณใกล้กับสวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร แต่งานนี้โชคดีมีคนใจดีนำมาพบสัตวแพทย์
ซึ่งจากถ่ายภาพทางรังสีวิทยาพบว่า “กระดูกหักตามร่างกายไม่หัก แต่ปอดอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง” ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการป่วยนี้
ในโพสต์ของคุณหมอยังบอกต่อว่า นกตัวนี้น่าจะรู้สึกแสบตา แสบคอ หายใจไม่ถนัด จนร่างกายแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ลดลง และอ่อนแรง วิงเวียน หน้ามืดแล้วก็ตกลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งอาการนี้ก็จะเกิดในคนเช่นเดียวกัน และนี่คือตัวชี้วัด “คุณภาพอากาศในเขตเมือง” ได้เป็นอย่างดี
ช่วงท้ายของโพสต์ให้ข้อมูล นกตะขาบดง ตัวเต็มวัยในภาพ ซึ่งเป็นนกขนาดกลาง ลำตัวมีหลากสี ปกติเป็นนกที่พบตามป่า บางครั้งก็อพยพผ่านกรุงเทพฯ พบได้ในหลายพื้นที่ โดยทางคุณหมอเองคาดว่าน่าจะเป็นชนิดย่อย Eurystomus orientalis cyanicollis ที่พบทางภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้
โดยข้อมูลทั้งหมดที่เอ่ยมา คุณหมอได้อยากแจ้งเตือนดัง ๆ ไปถึงทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โปรดหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัวและช่วยกันแก้ไขเท่าที่ตัวเองจะทำได้ให้มากที่สุด
“ขอร้องล่ะ เพราะธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนมาอย่างชัดเจนแล้ว!!!” ข้อความบางส่วนจากโพสต์ของ นายเกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่ได้ลงเผยแพร่ข้อมูลไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
เครดิตภาพ : น.ส.ณัฐรุรี คำชมภู นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ