ข่าวข่าวการเมือง

ตีความ จดหมายเปิดผนึกฉบับ 5 พล.อ.ประวิตร ร่ายยาวประเด็นก้าวสู่วิถีประชาธิปไตย

พลเอกประวิตร ร่อนจดหมายฉบับที่ 5 ร่ายยาวประเด็นก้าวสู่วิถีประชาธิปไตย อำนาจนิยมไม่ตอบโจทย์ จาก ชั้นผู้น้อย มาเป็น ผู้บัญชาการทหารบก คบหาสมาคมคนทุกวงการตามโอกาส ทำให้เข้าใจ โครงสร้างอำนาจของประเทศ เป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดใจฉบับที่ 5 ประเด็นในจดหมายเกี่ยวกับเรื่อง “ก้าวสู่วิถีประชาธิปไตย” โดยข้อความระบุว่า

Advertisements

การที่เป็นนายทหารเติบโตจาก “ชั้นผู้น้อย” จนมาเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” อยู่เป็นผู้หนึ่งในศูนย์กลางอำนาจรัฐ ประกอบกับการคบหาสมาคมกับคนในทุกวงการตามโอกาสที่อำนวยให้มากมาย ทำให้ตนเข้าใจ “โครงสร้างอำนาจของประเทศ” เป็นอย่างดี เป็นโครงสร้างที่ส่งผลต่อการช่วงชิงและจัดสรรอำนาจจริง ไม่ใช่แค่โครงสร้างในรูปแบบที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รับรู้

ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน การต่อสู้ของ 2 ฝ่าย 2 แนวความคิด เป็นไปอย่างเข้มข้น ฝ่ายหนึ่งมองเห็นแต่ความเหลวแหลกของพฤติกรรมนักการเมือง แต่ความไม่รู้ ความไม่มีความสามารถของประชาชนที่จะเลือกคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการประเทศ เห็นแต่ “นักธุรกิจการเมือง-การลงทุนทางการเมืองเพื่อค้ากำไร แสวงหาผลประโยชน์-นักการเมืองที่มาจากผู้มีบารมีในท้องถิ่น เข้ามาขยายแหล่งผลประโยชน์จากอำนาจส่วนกลาง”

ดูข่าวการเมือง
ภาพ @ไทยคู่ฟ้า

ผู้ประสบความสำเร็จในตำแหน่ง หน้าที่การงาน ทั้งที่เป็นข้าราชการ และภาคเอกชน ทั้งนักธุรกิจ นักลงทุนที่ทำงานขับเคลื่อนประเทศ ส่วนใหญ่ทนกับความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อนักการเมืองในคุณสมบัติข้างต้นไม่ไหว การสนับสนุนให้ก่อร่าง “โครงสร้างอำนาจนิยม” เกิดขึ้นจากความเหลือทนต่อพฤติกรรมดังกล่าวของนักการเมือง

ตนรับรู้ถึงกระแสสนับสนุน “การปฏิวัติรัฐประหาร” ที่ไม่เคยหมดไปจากโครงสร้างอำนาจประเทศเรามาตลอด และมองความเป็นไปทั้งหมดอย่างเข้าใจว่าทำไมกลุ่มผู้มีอิทธิพลในการกำหนดความเป็นไปของประเทศจึงพากันคิดและร่วมกันลงมือเช่นนั้น

เหมือนชะตาชีวิตเอื้อให้ผมมีโอกาสเข้ามาทำงานในฐานะนักการเมือง ตั้งแต่ในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่นำโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ทำงานร่วมกับผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งรัฐมนตรี และ ส.ส. จนมาถึงได้ร่วมก่อตั้งพรรค และขยับมาเป็นหัวหน้าพรรค

Advertisements
ประวิตรเปิดงาน
ภาพ @ไทยคู่ฟ้า

ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว ด้วยประสบการณ์ใหม่ และอุปนิสัยเดิมของผมที่รักในการคบหาสมาคมกับผู้คน ทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตและความคิดของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากขึ้น นักการเมืองในประเทศที่ประชาชนยังต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ มากมาย ด้วยโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศไม่เอื้อให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้

ขณะที่การบริหารจัดการของระบบราชการยังบกพร่องและเป็นปัญหาอยู่มาก นักการเมืองที่ถูกหมิ่นแคลนจากชนชั้นที่มีอิทธิพล กำหนดความเป็นไปของประเทศที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น กลับเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจปัญหา เป็นที่พึ่งที่หวังได้ในทุกเรื่องของประชาชน มากกว่าคนกลุ่มอื่นในโครงสร้างอำนาจ

ผมเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ว่าการตัดสินว่า “ประชาชนไม่มีความสามารถในการเลือกคนดี มีความสามารถเข้ามาเป็นผู้แทน” นั้นเป็น “ความคิดที่ไม่ถูก” เพราะมอง “การตัดสินใจเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบในโครงสร้างอำนาจแบบนี้ เพียงมุมเดียว” และเป็น “มุมมองที่ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกนึกคิดชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ”

การเมืองวันนี้
ภาพ Facebook @พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เมื่อชีวิตนักการเมืองของผมได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่สัมผัสการทำงานของนักการเมืองพื้นที่ต่างๆ ทั้งด้วยภารกิจราชการ เช่น การลงไปแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ต่างๆ และลงไปร่วมหาเสียง สร้างความนิยมให้สมาชิกพรรคในจังหวัดต่างๆ

ผมได้รับรู้ว่าการปลูกฝังสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนนั้นไปไกลแล้ว ทั้งที่ผ่านบทบาทของนักการเมืองส่วนกลาง และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งกันทุกระดับ ทำให้กลับมาย้อนมองผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทำไม “พรรคที่สนับสนุนอำนาจนิยม” จึงพ่ายแพ้ต่อ “พรรคที่เดินในแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกครั้ง

เหมือนไม่มีหนทางในชัยชนะอยู่เลย แม้ว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะสร้างกติกา และแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาควบคุมกลไก เพื่อให้เอื้อต่อชัยชนะของฝ่ายตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตายแค่ไหนก็ตาม เพราะความพ่ายแพ้นั้นเกิดจาก “อำนาจนิยม”

แม้จะครองใจคนบางกลุ่มได้ แต่ห่างไกลอย่างยิ่งต่อความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ และด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นจริงในชีวิตคนส่วนใหญ่ ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองของตนอย่างที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดความเชื่ออย่างหนักแน่นในใจว่า

“ในเส้นทางการบริหารจัดการประเทศ ไม่มีหนทางอื่นนอกจากมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในระบอบประชาธิปไตย เคารพการตัดสินของประชาชนส่วนใหญ่” เท่านั้น

ประวิตรวันนี้
ภาพ Facebook @พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แม้ผมจะมองไม่เห็นหนทางอื่น นอกจากปักความเชื่อมั่นใน “ระบอบประชาธิปไตย” อย่างมั่นคง หนักแน่นเพียงใดก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์ที่เรียนรู้ และรับทราบถึงเจตนาดีต่อประเทศของคนกลุ่มที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า “มีความรู้ความสามารถ” และยังคง “มีอิทธิพลกำหนดความเป็นไปของประเทศ” ทำให้ผมเกิดความเสียดาย และคิดว่าการหาทางประสานให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำพาประเทศ ย่อมเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบ้านเมือง และความคิดนี้เองเป็นที่มาของความมุ่งมั่น “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ของตน

ขอให้ทุกคนเชื่อว่าด้วยประสบการณ์และเรื่องราวที่ผมสั่งสมมา จะทำให้ผม “ทำได้และจะทำได้ดีกว่าใคร” ในความตั้งใจด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศนี้ “ขอให้เชื่อผมสักครั้ง” และหลังจากนี้ ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปว่าจะทำอย่างไร

ทั้งนี้ พบว่าโพสต์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ผ่านหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจในชื่อเดียวกับหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้มีผู้ใช้บัญชีโซเชียลจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเข้ามาคอมเมนต์ตีความการใช้คำว่า อำนาจนิยม แทน อนุรักษ์นิยม

ขณะที่อีกจำนวนมมากก็พากันตั้งคำถามในอีกหลายประด็นด้วยกัน คลิกดูโพสต์ฉบับเต็ม

รูปประวิตรวงษ์สุวรรณ

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button