วันสหกรณ์แห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์ วันสำคัญของกลุ่มเกษตรกร ที่คนไทยควรรู้
ชวนรู้จัก วันสหกรณ์แห่งชาติ อีกหนึ่งวันสำคัญของชาวไทย ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
วันสหกรณ์แห่งชาติ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 โดยยึดจากการประกาศของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่กำลังมีปัญหาทางการเงินในขณะนั้น ซึ่งในปัจจุบันกิจกรรมวันสหกรณ์แห่งชาติ มีการจัดงานทั่วประเทศ เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ
ความเป็นมาของสหกรณ์ในประเทศไทย
สหกรณ์ถือกำเนิดมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจของชนบทค่อย ๆ เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ความต้องการเงินทุนในการขยายการผลิตและการครองชีพจึงมีเพิ่มขึ้น ชาวนาที่ไม่มีทุนทรัพย์เป็นของตัวเองเริ่มหันไปกู้เงินกันมากขึ้น หนี้สินเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว
จากสภาพปัญหาความยากจนของชาวนา ทางราชการได้รีบหาวิธีช่วยเหลือด้วยการจัดหาเงินทุนมาให้กู้และคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ ในเวลาต่อมาได้มีการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ขึ้น ณ ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกในชื่อ “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย
กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้เชิญ เซอร์ เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ หัวหน้าธนาคารมัดราส ประเทศอินเดีย เข้ามาสำรวจหาลู่ทางช่วยเหลือชาวนา ทำให้เบอร์นาร์ดเสนอว่าควรจัดตั้ง ธนาคารให้กู้ยืมแห่งชาติ ดำเนินการให้กู้ยืมแก่เกษตรกร โดยมีที่ดินและหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน ส่วนการควบคุมเงินกู้แนะนำให้จัดตั้งเป็นสมาคมที่เรียกว่า “โคออเปอราทีฟ โซไซตี้” (Co-operatives Society) โดยมีหลักการรวมมือกัน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ซึ่งคำดังกล่าว พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “สมาคมสหกรณ์” กล่าวได้ว่า ประเทศไทยเริ่มศึกษาวิธีการสหกรณ์ขึ้นในปี 2457 จนกระทั่งในปีต่อมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรมสถิติพยากรณ์ เป็นกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ประกอบด้วยส่วนราชการ 3 ส่วน คือ การพาณิชย์ การสถิติพยากรณ์ และการสหกรณ์
การจัดตั้งส่วนราชการสหกรณ์ เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการทดลองการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้น และกรมหมื่นพิทยากรณ ในฐานะทรงเป็นอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ในขณะนั้น ทรงพิจารณาเลือกแบบอย่างสหกรณ์เครดิตที่จัดตั้งกันอยู่ในต่างประเทศหลายแบบ ในที่สุดก็เลือกแบบไรฟ์ไฟเชน เนื่องจากพระองค์เล็งเห็นว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะที่สุดสำหรับประเทศไทย บุคคลทั้งหลายในสหกรณ์จึงถือว่าพระองค์เป็น “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย”
กิจกรรมวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2566
กิจกรรมวันสหกรณ์แห่งชาติ มีต่อเนื่องอย่างยาวนาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดให้มีการจัดนิทรรศการวันสหกรณ์แห่งชาติ ผลิตสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ตามช่องทางสื่อสารทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ นอกจากนี้ยังมีพิธีสงฆ์เป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงกรมหมื่นพิทยาลงกรณ
ขอบคุณข้อมูลจาก 1