ข่าวข่าวอาชญากรรม

ใช้ช่วยชีวิตคนสำคัญมาก กู้ชีพวอนมือฉกเครื่อง AED หายทั่วกรุง 27 เครื่อง รีบเอามาคืน

ตำรวจเร่งล่ามือปริศนา ขโมยเครื่อง AED ของสภากาชาดไทย หายไปกว่า 27 เครื่อง มูลค่าเกือบ 2 ล้านบาท เผยเป็นเครื่องมือสุดสำคัญในการใช้ช่วยชีวิตคน

ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกับกรณีข่าว หัวขโมยมือปริศนาเข้าไปย่องฉกเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ เครื่อง AED ที่มีการวางประจำจุดต่างๆ เพื่อไว้สำหรับช่วยชีวิตคนจาก ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จากรายงานสูญหายไปแล้ว 27 เครื่อง แถมเจอไปโพสต์ขายผ่านโซเชียล ความเสียหายอยู่ที่ 1,890,000 บาท จาก 27 เครื่องที่หายไป

ล่าสุด เช้านี้ (25 ม.ค. 66) นายแพทย์ ธนดล โรจนศานติกุล หัวหน้าศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ที่พบเห็นเครื่อง AED ของสภากาชาดไทย ซึ่งไปติดในพื้นที่สาธารณะทั่วกรุงเทพฯ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ที่ถูกมือดีขโมยไป ขอให้นำมาส่งคืนหรือนำมาไว้ที่จุดติดตั้ง เพราะเครื่องนี้ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ นอกจากช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้น ซึ่งเครื่องนี้มีความสำคัญมาก สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ดีกว่า ซึ่งแต่ละเครื่องราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 บาท ทั้งนี้ หากไม่กล้านำมาส่งคืนเจ้าหน้าที่ สามารถตรวจสอบจุดติดตั้งเครื่องจากแอปพลิเคชันได้

พร้อมกันนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์กู้ชีพ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พาทีมข่าวไปดูจุดติดตั้งเครื่อง AED ของสภากาชาดไทยที่หายไป 2 จุด คือ ที่บริเวณถนนพระราม 4 และแยกราชดำริ จะเห็นสภาพทิ้งร่องรอยความว่างเปล่าไว้ เหลือเพียงตู้ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามเครื่องมาคืนให้ได้

ขณะที่อ้างอิงรายงานข่าวจาก รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ระบุ หลังจากทีมข่าวได้สอบถามไปยังตำรวจ ในพื้นที่ละแวกรพ.จุฬาฯ เบื้องต้นได้รับคำตอบว่า ทั้งสน.บางรัก สน.ปทุมวัน และสน.ลุมพินี ยังไม่ได้ตัวคนขโมยเครื่อง AED ทั้งนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ

เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED
แฟ้มภาพ @เทศบาลเมืองปากพนัง

เครื่อง AED คืออะไร สำคัญญังยังไง ?

อุปกรณ์ชนิดนี้เรียกว่า เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือเออีดี (Automatic External Defibrillator :AED ) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถ “อ่าน” และ “วิเคราะห์” คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งให้รักษาได้ โอกาสที่จะรอดชีวิต ของผู้ป่วยนั้นขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถใชเครื่อง AED ร่วมกับ ทำการช่วยฟื้นชีวิต ขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพียงใด และควรตระหนักไว้ว่าเวลาทุกๆ นาทีที่ผ่านไปนั้นมีค่าอย่างยิ่งต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย

เครื่อง aed
แฟ้มภาพ @เทศบาลเมืองปากพนัง

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button