ฮิตติดลมบนไปแล้วสำหรับวลี “ชีวิตแบบใด” คำสอนมงคลจาก “ท่านหญิงฟาติมะห์” ไม่ว่าจะในโลกทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก ต่างก็มีคนนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยหลายคนมักจะนำวลี ชีวิตแบบใด ไปต่อท้ายข้อความยาว ๆ ที่พูดถึงการเลือกใช้ชีวิต หรือบางคนอาจนำวลีดังกล่าวไปขึ้นต้นประโยคและต่อท้ายด้วยข้อความต่าง ๆ แต่รู้หรือไม่ว่ามีที่มาจากอะไร วันนี้เดอะไทยเกอร์ไลฟ์สไตล์ได้รวบรวมข้อมูลที่มาของวลีฮิตนี้มาฝากทุกคนกันด้วย
‘ชีวิตแบบใด’ วลีนี้มีที่มาอย่างไร?
สำหรับวลี “ชีวิตแบบใด” มาจากคลิปหลักคำสอนของศาสนาอิสลามในหัวข้อ “ชีวิตแบบใดที่เหมาะสมที่สุดของสตรี” บรรยายโดยอาจารย์ยัสมิน สาดและ ซึ่งเป็นคลิปวิดีที่ถูกเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊ก Nurul Channel ตั้งวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 และถูกนำมาตัดต่อลงแอปพลิเคชัน TikTok อีกครั้งในช่อง @aekkaphon001 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565
เนื้อหาในคลิปวิดีโอสอนศาสนาดังกล่าวพูดถึงการใช้ชีวิตของสตรีมสุลิมในปัจจุบัน ซึ่งมีบางคนอัดคลิปวิดีโอเต้นลง TikTok และมีการโชว์เนื้อหนังมังสาเกินความจำเป็น ซึ่งอาจารย์ยัสมินก็ได้นำคำพูดของท่านหญิงฟาฏิมะห์ อัซ ซะรออ์ ที่กล่าวถึงชีวิตที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสตรี คือชีวิตที่สตรีไม่จ้องมองบุรุษ และไม่ปล่อยให้บุรุษจ้องมอง
นอกจากนี้อาจารย์ยัสมินยังอ้างถึงวิถีสตรีมุสลิมในสมัยก่อนอีกด้วยว่าหากเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ก็เป็นการยากที่บุรุษจะมีโอกาสได้จ้องมอง ทว่าสมัยปัจจุบันนั้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาไปมาก ทำให้การจ้องมองบุรุษเพศ และการถูกบุรุษเพศจ้องมองเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ถาวรอีกด้วยเนื่องจากการโชว์เรือนร่างเหล่านั้นจะคงอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดไป
ภายหลังจากที่คลิปวิดีโอสอนสตรีตามหลักอิสลามกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์คำสอนดังกล่าวในสังคมไทย โดยบางส่วนมองว่าคำสอนของชาวมุสลิมนั้นเก่าและล้าหลังเกินไป อีกทั้งยังเป็นคำสอนที่ลิดรอนสิทธิสตรี
อย่างไรก็ตาม ความศรัทธาและศาสนาเป็นประเด็นที่เปราะบางไม่ว่าจะในประเทศไทย หรือประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้แต่ควรเป็นไปตามเหตุและผล และไม่ควรนำศาสนามาเป็นเหตุให้เกิดการล้อเลียนและสร้างความเกลียดชังต่อกันและกัน
ท่านหญิงฟาฏิมะห์ คือใคร
ฟาฏิมะห์ อัซ ซะรออ์ หรือ ท่านหญิงฟาฏิมะหฺ ถือเป็นสตรีคนสำคัญของศาสนาอิสลาม โดยท่านเป็นธิดาของศาสนทูตแห่งอิสลามอย่าง นบีมูฮัมหมัด ซึ่งมาดารของท่านหญิงฟาฏิมะห์เสียชีวิตไปตั้งแต่ที่ท่านยังเป็นเด็ก ดังนั้นท่านหญิงจึงมีหน้าที่คอยดูแลบิดาทุกอย่าง ท่านหญิงจึงได้รับสมญานามว่า “มารดาของผู้เป็นบิดา”
ทั้งนี้ท่านหญิงฟาฏิมะห์เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชาวมุสลิม ไม่เพียงแค่เฉพาะสตรีเพศเท่านั้น เพราะแม้แต่อิมามเองก็ยังเรียนการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างท่านหญิงฟาฏิมะห์ด้วยเช่นกัน โดยคำสอนของท่านหญิงจะขึ้นชื่อเรื่องความสมถะและการเสียสละ