หลังจากมีกระแสข่าวยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียนแบบเดิม โดยวันที่ 24 มกราคม 2566 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน พ.ศ. 2563 และมีคำสั่งให้หน่วยงานรวมถึงสถานศึกษาในสังกัดนำกฎระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียนฉบับใหม่ล่าสุดไปปฏิบัติโดยทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับกฎระเบียบทรงผมนักเรียนฉบับใหม่ล่าสุดนี้ มีการกำหนดแนวทางการไว้ทรงผมของนักเรียนไว้กว้าง ๆ เพื่อให้สถานศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปปรับใช้เป็นข้อกำหนดประจำแต่ละสถานศึกษา ทั้งนี้สถานศึกษาแต่ละแห่งต้องกำหนดกฎการไว้ทรงผมของนักเรียนภายใต้นโยบายของกระทรวงศึกษาที่ปรับปรุงใหม่ ดังต่อไปนี้
กฎระเบียบทรงผมนักเรียน ฉบับล่าสุด พ.ศ. 2566
1. นักเรียนหญิง และ นักเรียนชาย สามารถไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสถานศึกษา
2. ข้อกำหนดในการไว้ทรงผมของนักเรียนในแต่ละสถานศึกษาจะต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้ก่อน จึงจะสามารถบรรจุข้อกำหนดลงในกฎระเบียบทรงผมของนักเรียนได้
- สถานศึกษาต้องกำหนดข้อบังคับการไว้ทรงผมของนักเรียน และระบุบทอาศัยอำนาจของกฎหมายเฉพาะมาตรา 39 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546
- จัดให้มีการรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในเรื่องกฎระเบียบทรงผมนักเรียน หลังจากนั้นจึงค่อยเสนอข้อกำหนดต่อคณะกรรมการสถานศึกษา
- ประชาสัมพันธ์กฎระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียนที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาแล้วในระบบสารสนเทศหรือบริเวณสถานศึกษา โดยต้องแจ้งให้ทุกคนในสถานศึกษาทราบโดยทั่วกัน
ยกเลิกกฎระเบียบเก่า นักเรียนไว้ผมทรงไหนได้บ้าง?
จากข้อกำหนดใหม่เรื่องระเบียบทรงผมนักเรียน พ.ศ. 2566 อาจกล่าวได้ว่า “นักเรียนสามารถไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ จะผมยาว ผมสั้นก็ได้” แต่! ก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสถานศึกษานั้น ๆ โดยข้อกำหนดเรื่องทรงผมจะมาจากความเห็นชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรียกได้ว่าเป็นกฎระเบียบที่สร้างขึ้นจากการร่วมมือกันของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติอื่น ๆ เกี่ยวกับทรงผมนักเรียนอย่าง ห้ามดัดผม ห้ามย้อมสีผม และห้ามไว้หนวดเครา ยังคงถือเป็นข้อฏิบัติที่ไม่ได้ถูกยกเลิกตามไปด้วย เนื่องจากอาศัยบริบทเรื่องความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพการเป็นนักเรียนมาเป็นหลักปฏิบัติ
ทั้งนี้การยกเลิกกฎระเบียบเรื่องทรงผมดังกล่าวข้างต้น ก็อาจทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดอย่าง “นักเรียน” หรือไม่ ก็คงต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไปในระยะยาว