มีคำตอบ วัตถุสีชมพูบนองค์หลวงปู่ดู่ พระธาตุเสด็จเกาะจริงไหม
ฮือฮา พระธาตุเสด็จเกาะองค์ หลวงปู่ดู่ อาจารย์เจษฎ์ งัดข้อมูลมุมมองทางวิทยาศาสตร์ งานนี้ทำพุทธศาสนิกชนแห่สงสัยหนัก ตกลงวัตถุสีชมพูศักดิ์สิทธิ์จริงไหม
จากกรณีกระแสไวรัลที่สั่นสะเทือนวงการพระหมู่บูชา เทวรูปวัตถุมงคล หลังจากภาพรูปหล่อองค์หลวงปู่ดู่ ที่ปรากฏความน่าอัศจรรย์ใจแห่ชาวพุทธเนื่องจากมีวัตถุเม็ดเล็ก ๆ สีชมพู เป่งประกายลายลอมอยู่เกือบเต็มองค์ โดยต่อมาทำให้มีรายงานว่าประชาชนจำนวนมากต่างพากันหลั่งไหลไปกราบไหว้ขอพรยัง พระวิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ (ชั้นพระนอน) ณ วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของพระธาตุเสด็จองค์หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญณ
และด้วยกระแสวามศรัทธาทำให้ต่อมาผู้สื่อข่าวหายสำนักพากันเดินทางไปลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วก็พบพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้รวมตัวกันมาเที่ยวชมและกราบสักการะพระบารมีของหลวงปู่ดู่องค์ชมพูระยิบละลานตาตามที่มีข่าวในสื่อโซเชียล
โดยจากรายงาน ระบุ รูปหล่อหลวงปู่ดู่ที่พระธาตุได้เสด็จมาอยู่นั้น เป็นรูปหล่อเนื้อผงสีน้ำตาล ขนาดหน้าตักประมาณ 3 นิ้ว อยู่ในครอบแก้ว ตั้งอยู่บนหลังรูปปั้นช้างสีทอง ภายในพระวิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
นายศรัณย์ จันทรคิด ไวยาวัจกรวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว เผยว่า สำหรับผู้ที่จะมากราบสักการะสามารถมาได้ทุกวัน และขอให้ผู้ที่จะมากราบสักการะได้มีการแต่งกายด้วยความสุภาพเหมาะสม ให้เกียรติสถานที่ รวมทั้งอยู่ในกิริยาอันสงบ และที่สำคัญต้องทำใจให้สบาย ทำใจให้บริสุทธิ์ ละความชั่วทำจิตใจให้ผ่องใส ก็จะช่วยให้ผู้ที่มากราบไหว้เข้าถึงซึ่งความสุขที่แท้จริงได้
ทั้งนี้ รูปหล่อหลวงปู่ดู่ที่เป็นข่าวนั้น หลายปีก่อนได้มีญาติโยมนำมาถวายให้แก่พระอาจารย์ปารมี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว ซึ่งหลวงพ่อก็ได้เก็บไว้ภายในกุฎิ ต่อมาเมื่อประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมา ได้เกิดพระธาตุสีชมพูเสด็จมาประทับอยู่กับองค์หลวงปู่ดู่ แรกทีเดียวมีจำนวนไม่มากต่อมาก็ได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในความคิดของตนเอง เชื่อว่าเนื่องมาจากพระอาจารย์ปารมีเป็นพระที่เคร่งการปฏิบัติและสวดมนต์ภาวนาอยู่เป็นประจำ และตนก็เชื่อว่าหากสาธุชนหมั่นสวดมนต์ถือศีลภาวนา พระธาตุก็อาจจะเสด็จมาประทับในวัตถุที่เป็นมงคลผู้นั้นครอบครองอยู่ก็เป็นได้
เลิกฮือฮาดีไหม หลัง อาจารย์ ม.ดัง โพสต์บอก ถ้ามองมุมวิทย์มันคือวัสดุทางวิทยาศาสตร์
ดังคำที่ว่า ดาบมี 2 คม เหรียญมีสองด้าน มีศรัทธาก็ต้องมีวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับกรณี วัตถุสีชมพูลึกลับเกาะเต็มองค์หลวงปู่ดู่สีชมพู โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ขณะที่กระแสของพระบูชาดังกล่าวกำลังถูกกล่าวขานถึงความอันแสนน่าอัศจรรย์ใจ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกมาโพสต์อธิบายถึงข้อสงสัย เม็ดวัตถุสีชมพูที่มาเกาะติดเต็มองค์นั้น หากมองในแง่ของศรัทธาก็มองเป็นพระธาตุ แต่หากมองมุมวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอีกเรื่อง
“บางครั้ง สิ่งของเดียวกัน มองจากคนที่มีความเชื่อต่างกัน ก็กลายเป็นคนละอย่างกันได้ อย่างบางคนที่ศรัทธา ก็บอกว่า เป็นปาฏิหาริย์พระธาตุเสร็จ ขึ้นบนองค์พระ ส่วนคนที่ไม่ศรัทธา ก็บอกว่า เป็นเรซิ่นเครื่องกรองน้ำ ผสมสี ผสมกาว ทาบนองค์พระ คุณล่ะครับ คิดว่าเป็นอะไร ? “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่” กับ “ไม่เชื่อ ต้องพิสูจน์” คุณจะเลือกแบบไหนครับ ?” ข้อความจากโพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”
ก่อนที่ต่อมาโพสต์ดังกล่าวจะถูกบัญชีเฟซบุ๊กของอาจารย์เจษฎา @Jessada Denduangboripant (อาจารย์เจษฎ์) นำไปแชร์ผ่านหน้าไทม์ไลน์ของบัญชีโซเชียลส่วนตัวของตัวเองพร้อมกับแจกแจงข้อมูลในมุมที่ไม่ลี้ลับเพิ่มเติมว่า
“(รีโพสต์) เมื่อเช้านักข่าวก็โทรมาขอความเห็นเรื่องนี้ ในแช็ตบ็อกซ์คนก็ส่งมาถามกันเยอะ เรื่อง พระธาตุ เนี่ย มันขึ้นกับความเชื่อศรัทธาล้วนๆ ครับ ถ้าศรัทธาแล้ว ถึงจะเป็น เรซิ่นไส้กรองน้ำ ผสมสี ผสมกาว คนก็เชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ครับ เรื่องแบบนี้ เถียงกันไปก็ไม่ได้คำตอบชัดหรอก (แต่ถ้าเอาไปเข้าห้องแล็บนี่ ก็คงจะได้ข้อมูลมากขึ้นนะครับ ว่ามันประกอบจากสารใดบ้าง)” ข้อความจากเฟซบุ๊กอ.เจษฎา ที่ต่อมาชาวเน็ตตลอดจนแฟนคลับก็เข้ามาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวที่แม้จะยึดโยงอยู่กับความเชื่อโบราณกาลนานผ่านมา แต่ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไรก็ต้องยึดหลักข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้งด้วยหรือไม่
ตัวอย่างความเห็นที่น่าสนใจ อาทิ “อันไหนเหนือธรรมชาติเกินจริง ก็ต้องพิสูจน์ให้แน่ชัด มันมีประโยชน์กับทุกฝ่าย ความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ควรมีสติก่อนเชื่ออะไรง่ายๆ”
จะเจอคำนึงศรัทธา ไม่ต้องพิสูจน์ แต่แบบนั้นตรูเรียกงมงายและโดนหลอกชักจูงง่าย 555
ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ถ้าถูกอุปโลกน์ขึ้นมาว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นเทพ เป็นผู้มีบุญบารมีสูง คนไทยก็พร้อมจะกราบทันที (ไอ้คนที่เอาเม็ดสีนี่มาแปะเพิ่มวันละเม็ดสองเม็ด ถือว่าทำผลงานให้วัดได้ดี สมควรได้รางวัล)
นอกจากความเห็นที่พยายามให้ใช้ความเชื่อ ความศรัทธา โดยตั้งอยู่บนหลักการ เหตุผล ตลอดจนข้อเท็จจริงตามสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ บางความเห็นก็แอบมีคอมเมนต์ในเชิงปลงตกแบบเบาๆ ว่า “สังคมหมดที่พึ่งที่เป็นรูปธรรม”