ไหว้ปีชง ช่วงตรุษจีน 2566 ไหว้ก่อนหรือหลัง ชงดีควรไหว้หรือไม่
ใกล้ถึงวันดีอย่างตรุษจีน หลายคนคงรู้สึกไม่ชอบใจ “ปีชง” อย่างแรง เพราะหากปีนักษัตรขึ้นว่าเป็นปีชงเมื่อไร เราคงอยากรีบไปไหว้แก้ปีชงโดยเร็ว แต่จริง ๆ แล้วเรื่องชงมีอะไรมากกว่าที่เรารู้ วันนี้ทีมงานไทยเกอร์ขอมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่อง ไหว้ปีชง ช่วงตรุษจีน 2566 ตอบคำถามชัด อ่านจบรู้เลยว่าเราต้องไหว้แก้ชงหรือไม่ แล้วถ้าต้องไหว้ควรไหว้วันไหน ก่อนหรือหลังตรุษจีนถึงจะดี พร้อมแนะนำวัดไหว้แก้ชงดัง ๆ ในเมืองไทยให้คุณ
คำว่า ปีชง มาจากคำในภาษาจีนว่า 冲/衝 (chōng อ่านว่า ชง) หมายถึง ปะทะ หรือ ชน ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าหากปีนักษัตรเกิดของเราชงกับปีนั้น ๆ จะทำให้ชีวิตไม่ราบรื่น ต้องพบเจออุปสรรค หรืออาจจะหมายถึงได้พบเจอกับเรื่องที่ดี ชีวิตราบรื่นก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้จึงตามมาด้วยความเชื่อที่ชาวจีนนิยมปฏิบัติคือ การไหว้แก้ปีชง หรือการฝากดวงแก้ชงกับเทพเจ้านั่นเอง
ปีนักษัตรเถาะ 2023 นักษัตรไหนชงบ้าง
สำหรับปี พ.ศ. 2566 ปีที่ชงตรง 100% ก็คือ ปีระกา ส่วนปีชงร่วมได้แก่ ปีเถาะ (ปีนักษัตรใน พ.ศ. นั้น) ปีชวด และปีมะเมีย ซึ่งจะเรียงลำดับความชงดังนี้
- ปีชง คือ ปีระกา เป็นปีที่เจอแรงปะทะมากที่สุด (ชง 100%)
- ปีคัก คือ ปีเถาะ เป็นปีเดียวกับปีนักษัตรในรอบปีนั้น (ชง 50%)
- ปีเฮ้ง คือ ปีชวด เป็นปีที่ควรระวังเรื่องเคราะห์กรรมเก่า
- ปีผั่ว คือ ปีมะเมีย เป็นปีที่ควรระมัดระวังเรื่องสุขภาพ
สำหรับปีชงตรง หรือ ปีระกา ได้แก่ คนที่เกิดตรงกับปี พ.ศ. ต่อไปนี้ 2476 – 2488 – 2500 – 2512 – 2524 – 2536 – 2548 – 2560
ปีที่ชงร่วม ได้แก่ เถาะ ชวด และมะเมีย คือคนที่เกิดใน พ.ศ. ต่อไปนี้ 2467 – 2470 – 2473 – 2479 – 2482 – 2485 – 2491 – 2494 – 2497 – 2503 – 2506 – 2509 – 2515 – 2518 – 2521 – 2527 – 2530 – 2533 – 2539 – 2542 – 2545 – 2551 – 2554 – 2557 – 2563
ไหว้แก้ปีชง คืออะไร
การไหว้แก้ชง จะนิยมไหว้บูชาต่อองค์เทพไท้ส่วยเอี๊ย ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ช่วยคุ้มครองชะตาชีวิตของเรา จุดประสงค์ของการบูชาคือเพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น ให้ท่านช่วยปกปักคุ้มครองดวงชะตาของเราในปีนั้น ๆ
จริง ๆ แล้วการไหว้แก้ชงที่เราพูดกัน ควรเรียกว่า การฝากดวง มากกว่า เพราะหากคนที่ชงดี การไปแก้ดวงก็อาจทำให้ดวงชะตาเราพลิกผันได้
หากไม่ใช่ปีชง หรือชงดี จำเป็นต้องไหว้แก้ปีชงหรือไม่
การไหว้ฝากดวงชะตาเปรียบเสมือนเราได้รายงานตัวต่อผู้ดูแลดวง บูชาขอให้ท่านช่วยคุ้มครองให้เราอยู่ดีมีสุข ดังนั้นไม่ว่าปีนักษัตรของเราจะชงหรือไม่ก็สามารถไหว้ได้ เพียงแต่เน้นว่านักษัตรที่ชงตรงและชงร่วมควรจะไปไหว้แก้ชงให้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคลด้วย
ไหว้แก้ชง ไหว้ก่อนหรือหลังตรุษจีน
การนับวันขึ้นปีใหม่ของแต่ละปีไม่ตรงกัน เนื่องจากการช่วงวันขึ้นปีใหม่แต่ละปีจะยึดตามศาสตร์ทางจันทรคติ ดังนั้นคำถามว่าควรแก้ปีชงก่อนหรือหลังตรุษจีน คำตอบคือ ทำได้ทั้งก่อนและหลังตรุษจีน เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้องตามความเชื่อ คือการไหว้ฝากดวงกับเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยนั่นเอง
ไหว้แก้ปีชงตรุษจีน 2566 ที่ไหนดี
หัวใจสำคัญของการไหว้แก้ชงคือการบูชาต่อเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ดังนั้นหากวัดไหนมีรูปปั้นองค์เทพนี้ก็สามารถไหว้แก้ชงได้ทั้งนั้น โดยวันนี้ทีมงานไทยเกอร์ได้รวบรวมวัดไหว้แก้ชงในกรุงเทพและจังหวัดอื่นมาฝากคุณถึง 9 แห่ง ดังนี้
1. วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่
ที่ตั้ง : 423 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
พิกัด : วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
2. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)
ที่ตั้ง : 959 หมู่ 4 ถนนเทศบาล 9 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
พิกัด : วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
3. ศาลเจ้าพ่อเสือ
ที่ตั้ง : 468 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
พิกัด : ศาลเจ้าพ่อเสือ
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น.
4. วัดโพธิ์แมนคุณาราม
ที่ตั้ง : 323 ถนนสาธุประดิษฐ์ ซอย 19 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
พิกัด : วัดโพธิ์แมนคุณาราม
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
5. วัดทิพยวารีวิหาร (หรือวัดกัมโล่วยี่)
ที่ตั้ง : ซอยทิพย์วารี แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พิกัด : วัดทิพยวารีวิหาร (หรือวัดกัมโล่วยี่)
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
6. ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ
ที่ตั้ง : 1/13 หมู่ 5 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
พิกัด : ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
7. ศาลเจ้าปุงเถ่ากง
ที่ตั้ง : 45 ถนนไปรษณีย์ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50300
พิกัด : ศาลเจ้าปุงเถ่ากง
เวลาเปิด-ปิด: –
8. พุทธสถาน จีเต็กลิ้ม
ที่ตั้ง : ตำบลศรีจุฬา อำเภอเมืองนครนายก นครนายก 26000
พิกัด : พุทธสถาน จีเต็กลิ้ม
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
9. มูลนิธิบูชาธรรมสถาน
ที่ตั้ง : ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี 34190
พิกัด : มูลนิธิบูชาธรรมสถาน
เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.
ไหว้แก้ชงต้องเตรียมอะไรบ้าง
สำหรับใครที่วางแผนเดินทางไปไหว้แก้ชงกับองค์ไท้ส่วยเอี๊ย ต้องเตรียมของดังนี้
- ดอกไม้สด 1 คู่
- เทียนแดง 1 คู่
- ธูป 3 ดอก
- หงิ่งเตี่ย (กระดาษเงินกระดาษทอง) 13 ชุด
- เทียงเถ่าจี้ (กระดาษแดงเขียนอักษรมงคล) 1 คู่
- กิมหงิ่งเต้า (กระดาษถังเงินถังทอง) 1 คู่
- อาหารเจ 5 อย่าง เช่น เห็ดหอม เห็ดหูหนู เต้าหู้ วุ้นเส้น เป็นต้น
- ถั่วลิสง 25 เม็ด
- พุทราแดง 25 เม็ด
- ขนมโก๋ 5 ชิ้น
- น้ำชา 5 ถ้วย
- ข้าวสวย 5 ถ้วย
วิธีไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย
1. เขียนชื่อ – นามสกุล พร้อมวันเดือนปีเกิดของเรา
2. จุดธูป 3 ดอก พร้อมนำกระดาษที่เขียนชื่อไปไหว้องค์เทพไท้ส่วยเอี๊ย พร้อมกล่าวคำอธิษฐานว่า
“ข้าพเจ้า (บอกชื่อ นามสกุลและวันเกิด) ขออัญเชิญเทพโหล่วปี่ไต่เจียงกุง เทพเจ้าไท่ส่วยเอี้ยประจำปีนี้ โปรดเสด็จมารับเครื่องสักการบูชาทั้งหลายเหล่านี้
ขอให้ท่านรับและคุ้มครองข้าพเจ้าให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เงินทองไหลมาเทมา ไม่พบเจอสิ่งอัปมงคล ขอให้พบแต่สิ่งดีตลอดปีใหม่นี้และขอให้สมปรารถนาในทุกเรื่องด้วยเทอญ”
3. จากนั้นนำกระดาษที่เขียนชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด มาปัดตามตัวตั้งแต่ศีรษะลงมาจนสุดแขน 13 ครั้ง และกล่าวคำอธิษฐานขอพรต่อองค์เทพ
4. นำใบชื่อไปฝากไว้กับทางวัด โดยทางวัดจะทำพิธีสวดมนต์เสริมดวงชะตาให้เจ้าของดวงต่อไป
ทั้งนี้การแก้ชงเป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น หากเราศรัทธา ไม่สบายใจกับดวงชงก็สามารถปฏิบัติตามวิธีด้านบนได้ อย่าลืมใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทและใช้วิจารณญาณในการดำเนินชีวิตกันด้วย เพราะนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด.