การเงินเศรษฐกิจ

รวมรายการ “ลดหย่อนภาษี 2565” มีอะไรบ้าง เช็กที่นี่

จดด่วน! ลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง รวมลิสต์มาให้ที่นี่แล้ว ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ครอบครัว การลงทุน ประกัน และการบริจาค บริหารยังไงให้จ่ายน้อยลง ลุ้นได้เงินคืน

เข้าสู่ช่วงการวางแผน ลดหย่อนภาษี ประจำปี 2565 พนักงานเงินเดือนและมนุษย์ฟรีแลนซ์ ก็ถึงคราวปวดหัวครั้งใหญ่ ต้องคิดเรื่องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการลดหย่อนภาษีกันจนหัวหมุน วันนี้เราจึงนำลิสต์รายการลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากร ที่ทุกคนควรรู้มาฝาก พร้อมพาไปส่องวิธีการคำนวณสูตรการจ่ายภาษี เพื่อเตรียมตัวชำระภาษีในปี 2566 นี้

รายการ ลดหย่อนภาษี 2565 ยื่นปี 2566 มีอะไรบ้าง

การจ่ายภาษีของผู้มีรายได้เกิน 150,000 บาทต่อปี มีวิธีการคำนวณง่าย ๆ ผ่าน 2 สูตรคำนวณภาษีขั้นพื้นฐาน ดังนี้

  • สูตรคำนวณหาเงินได้สุทธิ เงินได้สุทธิ = รายได้ (ต่อปี) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
  • สูตรคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายจากเงินได้สุทธิ ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี

เมื่อทราบผลการประเมินภาษีเบื้องต้นแล้ว ให้เตรียมวางแผนเรื่องการลดหย่อนภาษีให้ดี โดยในการลดหย่อนภาษีของปี 2565 ที่จะใช้ยื่นในช่วงปี 2566 มีรายการลดหย่อนภาษี ดังนี้

ลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง

ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาและครอบครัว

1. ผู้มีเงินได้ ค่าลดหย่อน 60,000 บาท

2. คู่สมรส (ที่ไม่มีเงินได้) ค่าลดหย่อน 60,000 บาท

3. บุตร ค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร มีเงื่อนไขคือต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้หักจากบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน แล้วค่อยหักด้วยบุตรบุญธรรม

เว้นแต่มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมากกว่า 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้ แต่ถ้าบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้ โดยเมื่อรวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วต้องไม่เกิน 3 คน

4. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดามีอายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาทในปีภาษี

5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท ทั้งนี้ คนพิการหรือคนทุพพลภาพต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน30,000 บาทในปีภาษี

ลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง

ลดหย่อนด้านประกัน การออม และการลงทุน

1. ยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ และบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

2. ลดหย่อนและยกเว้น สำหรับเบี้ยประกันชีวิต แบ่งเป็น ผู้มีเงินได้ และคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่เกิน 90,000 บาท)

หากเบี้ยประกันภัยที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ให้ยกเว้นอีกร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. ลดหย่อนและยกเว้นเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่เกิน 490,000 บาท และไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง)

4. ยกเว้นเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

5. ยกเว้นเงินสะสมกบข. ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

6. ยกเว้นเงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

7. ยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นคนพิการอยู่ในไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปี บริบูรณ์ ค่าลดหย่อน ยกเว้นตามจำนวนเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 190,000 บาท

8. ยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทย และมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในปีภาษี ค่าลดหย่อน ยกเว้นตามจำนวนเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 190,000 บาท

9. ยกเว้นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ไม่รวมค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุ หรือสิ้นสุด สัญญาจ้าง) ค่าลดหย่อน ยกเว้นค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง หรือเงินเดือนของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท

10. ยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่าลดหย่อน เงินได้ตามจำนวนที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้

แต่ไม่เกิน500,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

11. ยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ค่าลดหย่อน เงินได้ตามจำนวนที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน)

12. ลดหย่อนและยกเว้น สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย

  • ผู้มีเงินได้กู้ยืมคนเดียว ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่เกิน 90,000 บาท)
  • ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืม ตามส่วนจำนวนผู้กู้ร่วม แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน100,000 บาท

13. ยกเว้นเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดนั้น ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3,000,000 บาท แต่ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดนั้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนซึ่งได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในระหว่างวันที่ 13 ต.ค. 2558 ถึง 31 ธ.ค. 2559

ทั้งนี้ ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 ปีภาษีต่อเนื่องกันนับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปี

14. ลดหย่อนเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท

ลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง

ลดหย่อนภาษีประเภทเงินบริจาค

1. ลดหย่อนเงินบริจาคทั่วไป ค่าลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง ในเดือน ม.ค. ถึง ธ.ค. แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น

2. ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ค่าลดหย่อน 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นก่อนหักลดหย่อนเงินบริจาค

3. บริจาคให้พรรคการเมือง ค่าลดหย่อน เป็นไปตามค่าใช้จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง

ลดหย่อนภาษี 2565 รายการอื่น ๆ

1. การหักลดหย่อนผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ค่าลดหย่อน 60,000 บาท

2. การหักลดหย่อนกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ค่าลดหย่อน 60,000 บาท

3. การหักลดหย่อนห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท รวมกันไม่เกิน 120,000 บาท (หากหุ้นส่วนฯ อยู่ในประเทศไทยเพียงคนเดียวหักลดหย่อนได้ 60,000 บาท)

4. การหักลดหย่อนวิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ค่าลดหย่อน 60,000 บาท

5. ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ค่าลดหย่อน ไม่เกิน 100,000 บาท

6. โครงการช้อปดีมีคืน ค่าลดหย่อน ไม่เกิน 30,000 บาท การลดหย่อนภาษีจากโครงการสนับสนุนของรัฐ ช้อปดีมีคืน จะให้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 แต่จะไม่รวม ค่าสุรา ค่ายาสูบ ค่าน้ำมัน ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ค่าหนังสือพิมพ์ ค่านิตยสาร ค่าไกด์ ค่าที่พักในโรงแรม และค่าสาธารณูปโภค

ลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง

รายได้เท่านี้ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่บ้าง

สำหรับการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า ผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปี น้อยกว่า 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีรายได้เกินกว่านั้น จะต้องชำระภาษีตามลำดับ ดังนี้

  • 150,001 – 300,000 บาท ภาษี 5%
  • 300,001 – 500,000 บาท ภาษี 10%
  • 500,001 – 750,000 บาท ภาษี 15%
  • 750,001 – 1,000,000 บาท ภาษี 20%
  • 1,000,001 – 2,000,000, บาท ภาษี 25%
  • 2,000,001 – 5,000,000 บาท ภาษี 30%
  • 5,000,000 บาทขึ้นไป ภาษี 35%

ดังนั้นหากใครที่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็อย่าลืมนำ รายการลดหย่อนภาษี 2565 ที่ต้องยื่นในปี 2566 ตามลิสต์ด้านบนนี้ ไปเช็กกันดูด้วยนะว่า ตัวเองสามารถลดหย่อนด้านไหนได้บ้าง เพื่อจะได้วางแผนทางการเงินให้ถูกต้องและรอบคอบมากที่สุดนั่นเอง.

อ้างอิง 1 2 กรมสรรพากร

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button