ไลฟ์สไตล์

รู้จัก ‘เชื้อไมโคพลาสมา’ (Mycoplasma) แบคทีเรียตัวร้าย สู่ภาวะหัวใจอักเสบ

ทำความรู้จัก “โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา” (Mycoplasma infections) ภัยอันตรายที่คร่าชีวิตผู้คนโดยไม่รู้ตัว โรคติดเชื้อไมโคพลาสมานั้นเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจในขณะนี้ เนื่องจากการติดเชื้อไมโคพลาสมาอาจส่งผลร้ายต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ รวมไปถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะภาวะหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไมโคพลาสมาที่รุนแรงถึงชีวิต แม้จะดูเหมือนเป็นอาการของไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาท

ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) คืออะไร

สำหรับไมโคพลาสมานั้น เป็นกลุ่มแบคทีเรียพบได้ทั่ว ๆ ไป มีอยู่ประมาณ 200 ชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่ทำให้เกิดโรค อีกทั้งยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ไมโคพลาสมายังไม่มีผนังเซลล์อีกด้วย ทำให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดไม่สามารถรักษาได้ เพราะโดยปกติแล้วยาปฏิชีวนะจะทำให้ผนังเซลล์ของแบคทีเรียอ่อนแอ

Advertisements

แม้เชื้อไมโคพลาสมาจะเป็นแบคทีเรียตามธรรมชาติ แต่ด้วยขนาดเล็กจึงทำให้แพร่กระจายง่าย โดยสามารถติดจากคนสู่คนได้ ทางแพทย์จะแบ่งโรคติดเชื้อชนิดนี้ตามตำแหน่งที่เกิดโรค ซึ่งมีเชื้อไมโคพลาสมา 5 ชนิด ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายของเราแล้วจะทำให้เกิดโรค ได้แก่

1. Mycoplasma pneumonia

2. Mycoplasma genitalium

3. Mycoplasma hominis

4. Ureaplasma urealyticum

Advertisements

5. Ureaplasma parvum

สำหรับเชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia จะส่งผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ ส่วนเชื้อชนิดอื่น ๆ ที่เหลือจะส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงและเพศชาย

เชื้อไมโคพลาสมาคือ

อาการติดเชื้อไมโคพลาสมาต่อระบบทางเดินหายใจ

หากร่างกายได้รับเชื้อไมโคพลาสมาชนิด pneumonia จะส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ทั้งทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งผู้ป่วยติดเชื้อไมโคพลาสมาอาจมีอาการดังต่อไปนี้

1. อาการต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน

  • ไอ
  • มีน้ำมูก
  • เจ็บคอ
  • ปวดหัว
  • มีไข้ต่ำ ๆ

2. อาการต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

  • ปอดอักเสบ
  • ปอดบวม
  • ปอดติดเชื้อ

สำหรับการติดต่อของเชื้อไมโคพลาสมาชนิด pneumonia จะเกิดจากการหายใจเอาละอองที่มีเชื้อเข้าไปในร่างกาย มักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เนื่องจะมีการไอและจาม ทำให้เชื้อแพร่กระจายปะปนในอากาศ

เชื้อไมโคพลาสมา อาการ

อาการติดเชื้อไมโคพลาสมาต่อระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์

เมื่อได้รับเชื้อไมโคพลาสมาชนิด genitalium, hominis, Ureaplasma urealyticum และ Ureaplasma parvum จะทำให้เกิดการอักเสบที่ท่อปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จึงนับว่าเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง

สำหรับอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะพบหลังจากติดเชื้อประมาณ 1-3 สัปดาห์ (ระยะฟักตัวของโรค) โดยจะพบว่ามีอาการดังนี้

1. อาการติดเชื้อในเพศชาย

  • ปัสสาวะแสบขัด
  • หนองไหลจากท่อปัสสาวะ
  • ท่อปัสสาวะอักเสบและบวม

2. อาการติดเชื้อในเพศหญิง

  • ตกขาวผิดปกติ
  • เจ็บหรือแสบอวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกอวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปากมดลูกอักเสบ
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ

อาการติดเชื้อไมโคพลาสมา

ติดเชื้อไมโคพลาสมาที่หัวใจ ภาวะแทรกซ้อนถึงชีวิต

แม้การติดเชื้อไมโคพลาสมาจะสามารถเกิดขึ้นได้ในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ แต่ก็สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อติดเชื้อไมโคพลาสมาที่หัวใจก็อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจอักเสบได้

แม้จะพบว่าการเกิดภาวะหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไมโคพลาสมานั้นมีเปอร์เซนต์น้อย แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้วก็สามารถมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้

ติดเชื้อไมโคพลาสมาที่หัวใจ

วิธีรักษาโรคติดเชื้อไมโคพลาสมาชนิดต่าง ๆ

หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไมโคพลาสมา แพทย์จะทำการรักษาด้วยการจ่ายยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides หรือ doxycycline ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะหายป่วยเร็วขึ้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงก็จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการที่บ่งบอกได้ว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • มีไข้ขึ้นสูงมาก
  • ไอแห้ง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไอเป็นเลือด
  • หายใจหอบเหนื่อยผิดปกติ หรือหายใจเร็ว
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
  • แน่นหน้าอกด้านซ้าย หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • แขนขาอ่อนแรง ชักเกร็ง มีจุดเลือดตามร่างกาย
  • ปัสสาวะสีเข้มมาก

เชื้อไมโคพลาสมา

วิธีป้องกันตัวจากโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา

ปัจจุบันโรคไมโคพลาสมายังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน แต่สามารถปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำต่อไปนี้เพื่อลดโอกาสติดเชื้อไมโคพลาสมาได้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แคบและมีคนแออัด
  • สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ
  • รักษาความสะอาด ใช้ช้อนกลาง เมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

วิธิป้องกันเชื้อไมโคพลาสมา

แม้ว่าผู้ป่วยโรคติดเชื้อไมโคพลาสมาส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนก็อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อตรวจพบว่าร่างกายมีความผิดปกติในเบื้องต้นก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคและรักษาอาการป่วยโดยเร็วที่สุด อย่านิ่งนอนใจว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา เพราะอาจมีอาการรุ่นแรงแฝงอยู่ทำให้เสียชีวิตได้

อ้างอิงข้อมูลจาก : 1 2 3

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button