ผู้หญิง

ประวัติ ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ ผู้สืบสายเจ้านายฝ่ายเหนือ

พาไปส่องประวัติ ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ ผู้มีศักดิ์เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ สืบเชื้อสายโดยตรงจาก ณ ลำพูน ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชาวไทย

ถือเป็นเรื่องเศร้าตั้งแต่ต้นปีเมื่อ ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ หรือ ‘เจ้ายาย’ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวันที่ 2 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ในวัย 93 ปี สร้างความโศกเศร้าให้กับผู้ที่ใกล้ชิดเป็นอย่างมาก วันนี้เดอะไทเกอร์จึงอยากจะพาทุกท่าน ไปย้อนชมประวัติ รวมถึงผลงานเด่น ของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ด้วยกัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้านายฝ่ายเหนือ ผู้มีใจโอบเอื้ออารีย์ ช่วยเหลือผู้คนมาอย่างช้านาน

Advertisements

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ธิดาของเจ้าราชภาคินัย

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ หรือ เจ้ายาย เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้ได้รับการเรียกขานว่า “ดวงเดือน” มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมมารดาคือ เจ้าอาทิตย์ เจ้านิภาพันธุ์ และเจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่

เจ้ายายเป็นหนึ่งในบุตรของเจ้าราชภาคินัย หรือที่รู้จักกันในชื่อ เมืองชื่น ณ เชียงใหม่ โดยเมืองชื่นเป็นโอรสสายตรงของเจ้าราชภาติกาวงศ์ (เจ้าบัวรวงศ์) กับเจ้าฟองนวล ซึ่งเดิมทีแล้วเจ้าเมืองชื่นถือเป็นผู้สืบเชื้อสายของตระกูล ณ ลำพูน แต่ได้เปลี่ยนนามสกุลมาเป็น ณ เชียงใหม่ ในภายหลัง ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าราชภาคินัยในเวลาต่อมา

ทำให้สรุปได้ว่า เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ไม่ได้เป็นคนในประธานราชตระกูลเชียงใหม่ แต่เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่มาจากฝั่ง ณ ลำพูน

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
ภาพจาก FB: เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

ทางด้านชีวิตส่วนตัว เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้ถูกรับไปเลี้ยงโดยเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ในฐานะพระธิดาบุญธรรม และได้มีการดูแลรวมถึงให้การศึกษาเป็นอย่างดี ทำให้เจ้าดวงเดือนได้รับการฝึกฝน ทั้งในเรืองการเรือน การฟ้อนรำ การทำอาหาร ยาสมุนไพร และการขับกล่อมเพลงราชสำนัก

ในภายหลังเจ้าดวงเดือน ได้แต่งงานกับพิรุณ อินทราวุธ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ จนมีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ภาคินี ณ เชียงใหม่, ภาคินัย ณ เชียงใหม่, เดือนเพ็ญ ภวัครานนท์ และพวงเดือน ยนตรรักษ์

Advertisements
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
ภาพจาก FB: เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

ผลงานเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

ตลอดชีวิตของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ท่านได้ทำงานมาแล้วมากมาย ทั้งในบทบาทนักจัดรายการวิทยุ นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง รวมถึงประธานในกิจกรรมและองค์กรต่าง ๆ ดังนี้

  • ริเริ่มโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
  • ริเริ่มงานไม้ดอกไม้ประดับ หรือ งานบุปผาชาติ
  • สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  • ผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่
  • กรรมการกลางของชาติในโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง
  • ผู้อำนวยการสำนักงานสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยภาคเหนือ
  • ประธานประสานงานส่วนภูมิภาคของสภาสังคมสงเคราะห์ ภาค 5
  • นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ 16 ปี
  • ประธานชมรมไม้ดอกไม้ประดับคนแรกของเชียงใหม่
  • อุปนายกพุทธสมาคมเชียงใหม่
  • อุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ ภาคเหนือ
  • อุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วน ภูมิภาค
  • นักหนังสือพิมพ์ อดีตเจ้าของ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “เสียงเชียงใหม่”
  • นักจัดรายการวิทยุที่ได้รับเหรียญ VOICE OF AMERICA (V.O.A)
  • กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่
  • เลขานุการสมาคมสตรีศรีลานนาไทย
  • ประธานสภาวัฒนธรรมคนแรกของเชียงใหม่และคนแรกของประเทศไทย
  • ประธานกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
  • ประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมสืบสานศิลปวัฒนธรรมเขลางค์ จังหวัดลำปาง
  • ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เครือข่ายสังคมสร้างสรรค์
  • ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2558 โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
  • ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิกองทุนเพื่ออนุรักษ์ดอยอินทนนท์
  • บุคคล “ค่าแห่งแผ่นดิน” ในด้านการส่งเสริมศาสนา และวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2564 โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ

ทั้งนี้เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 ด้วยอายุ 93 ปี ท่ามกลางความอาลัยของผู้ใกล้ชิด โดยหลายคนได้ร่วมรำลึกถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของท่าน ทั้งในฐานะผู้สืบเชื้อสายของเจ้านายฝ่ายเหนือ และผู้ที่ทำคุณให้กับแผ่นดินมาอย่างยาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ.

banner12

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button