ดราม่า เหน็บคนไทยลางานทุกเทศกาล จะสู้จีน-พม่า ได้ยังไง
งานนี้ดราม่ายาวแน่นอน หลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความถึงประเด็นการหยุดงานของแรงงานในประเทศไทย โดยพาดพิงว่าแรงงานชาติอื่น ๆ มีความขยันมากกว่า ทำงานไม่นานก็ได้เป็นเจ้าของกิจการ แต่สำหรับคนไทยนั้นคงไม่มีทาง เพราะไม่ว่าจะเทศกาลไหนก็ขอลาหยุดพักผ่อนอยู่ตลอด ความว่า
“คนจีนเสื่อผืนหมอนใบทำงานไม่กี่ปีเป็นเถ้าแก่ คนพม่าแบกหามไม่นานเป็นเจ้าของแผงตลาดไท สงกรานต์-ปีใหม่แรงงานต่างชาติทำงานทุกวัน ในขณะแรงงานไทยลากิจตั้งแต่วันอังคารถึงปีหน้า…”
ด้านชาวเน็ตที่ผ่านเข้ามาเห็นข้อความดังกล่าวก็เสียงแตกแบ่งเป็นฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับคนที่เห็นด้วยนั้นมองว่าแรงงานไทยหยุดทุกเทศกาลอยู่แล้ว แต่ก็ยังขอลาเพิ่มอีก เป็นเรื่องที่นายจ้างต้องทำใจล่วงหน้า แม้ว่าการลาหยุดของแรงงานจะทำให้กิจการต้องหยุดชะงักก็ตาม
นอกจากนี้บางคนยังมองว่าพฤติกรรมการใช้วันหยุดของแรงงานไทยเข้าข่ายนิสัยเกียจคร้าน จึงไม่แปลกใจว่าถ้าในอนาคตคนที่ได้เป็นเจ้าของกิจการหลาย ๆ ที่จะไม่ใช่คนไทย แต่เป็นชาวจีนหรือชาวเมียนมาแทน
สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าบริษัทเอกชนมีวันลา 15-20 วันอยู่แล้ว ลูกจ้างจะลาหยุดหรือไม่ยังไงบริษัทก็จ่ายเงินเดือนเท่าเดิม การไปทำงานไม่ได้ทำให้นายจ้างให้เงินเดือนเพิ่ม หรือทำให้ลูกจ้างรวยกว่าเดิม สู้ใช้สิทธิ์ลาหยุดตามที่บริษัทมีให้เพื่อพักผ่อนจะดีกว่า
ทั้งนี้ในส่วนของกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562) ได้แบ่งวันหยุดไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้
1. วันหยุดประจำสัปดาห์
ต้องมีไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
2. วันหยุดตามประเพณี
ต้องไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป
สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้
3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี
ต้องไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้
หากอ้างอิงตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว ก็ถือว่าการลาหยุดพักผ่อนต่อเนื่องกับวันหยุดตามประเพณีไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย สามารถทำได้ ยกเว้นว่าในสัญญาจ้างระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างระบุข้อตกลงเรื่องวันหยุดและวันลาไว้แบบอื่นและมีการเซ็นยินยอมทั้งสองฝ่าย
ดังนั้นประเด็นการลาหยุดของแรงงานไทยในช่วงวันหยุดเทศกาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำตามสิทธิ์ของแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ได้เกี่ยวกับนิสัยเกียจคร้านแต่อย่างใด การเหมารวมว่าแรงงานไทยขี้เกียจเนื่องจากลาหยุดอาจดูไม่ธรรมสำหรับแรงงานไทยสักเท่าไร เพราะแต่ละคนมีการจัดสรรเวลาในชีวิตต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่นายจ้าง.