10 ธันวาคม “วันสิทธิมนุษยชน” แนะนำปฏิญญาสากล 30 ข้อที่ควรรู้
ตระหนักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส “วันสิทธิมนุษยชน” ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ชวนศึกษาความหมายสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและสากล พร้อมแนะนำปฏิญญาสากล 30 ข้อที่ควรรู้มีอะไรบ้าง
วันสิทธิมนุษยชนสากล หรือวันสิทธิมนุษยนชนแห่งสหประชาชาติ ปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 จัดตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญถึงประเด็นของสิทธิมนุษยชน (Human Rights) อันเป็นหลักทางศีลธรรมหรือจารีตขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ เพศ หรือศาสนา ก่อตั้งครั้งแรกจากการที่สมัชชาใหญ่มีมติเห็นชอบและประกาศปฏิญญาสากล คือ เอกสารที่ทั่วโลกตกลงใช้ร่วมกันเป็นแนวทางไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียม โดยการปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคนในทุกแห่งหน ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ซึ่งเป็นการแถลงสิทธิมนุษยชนทั่วโลกครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน นับจากนี้เป็นต้นมานั่นเอง
ทีมงาน The Thaiger ชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักประวัติของวันสิทธิมนุษยชนสากล ข้อกฏหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จำนวน 30 ข้อ ที่ยึดถือเป็นมาตรฐานในระดับนานาชาติมีอะไรบ้าง จะได้มีความเข้าใจถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้นครับ
ประวัติก่อตั้ง “วันสิทธิมนุษยชน”
รู้จักความหมายของคำว่า “สิทธิมนุษยชน” คือ สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนบนโลกพึงมีและควรได้รับด้วยความเสมอภาค โดยที่ไม่มีใครสามารถพรากสิทธิมนุษยชนไปจากเราได้
จากความหมายของสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ทำให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญจากการได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการก่อให้เกิดสันติภาพและความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นอารยะในระดับนานาชาติ
เช่นนั้นแล้วทาง สมัชชาสหประชาชาติจึงได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน Human Rights Day
จากนั้นในปี พ.ศ. 2495 สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติ ให้ร่างตราสารสิทธิมนุษยชนขึ้น 2 ฉบับ ชื่อว่า “กติกา” (Convenant) เนื้อหาแบ่งเป็น สิทธิทางแพ่งและทางการเมืองฉบับหนึ่ง และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกฉบับ ซึ่งกติกาทั้งสองฉบับได้ผ่านการรับรอง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2509 และวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2519 ตามลำดับ
กฎหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
สำหรับ กฎหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อ้างอิงตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ได้ระบุว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้หลายมาตราด้วยกัน เช่น ในมาตรา 4 นั้นระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” และ ในหมวดที่ 3 ซึ่งเป็นหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
มาตราที่ 25 ถึง 49 ยังได้บรรยายขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายด้านด้วยกัน เช่น ความยุติธรรมทางอาญา การศึกษา การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการแสดงออก การไม่ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เป็นต้น
อีกทั้งรัฐบาลไทยยังมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจัดทำฉบับแรกในปี พ.ศ. 2551 โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น สำหรับให้ทุกภาคส่วนนําไปใช้ในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิของประชาชนในประเทศต่อไปในอนาคต (ฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 3 พ.ศ. 2557-2561)
นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ ส่งผลให้ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า “พันธะผูกพัน” ในการปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี
รวมไปถึงข้อตกลงเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นจากการประชุมระดับโลก ผ่านการทำงานของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบอย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมในประเทศไทย
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ
อย่างที่ทราบกันดีว่าสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) อันประกอบด้วยสมาชิกประเทศต่าง ๆ ได้ลงมติรับรองและประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้แม้ว่า ปฏิญญาฉบับนี้จะไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ แต่ก็ถือเป็นข้อปฏิบัติสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดานานาชาติ ซึ่งฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยหัวข้อจำนวน 30 ข้อ ดังต่อไปนี้
- ทุกคนเกิดมาเท่าเทียม
- ไม่แบ่งแยก
- สิทธิในการมีชีวิต
- ไม่ตกเป็นทาส
- ไม่ถูกทรมาน
- ได้รับการคุ้มครองทางกฏมาย
- เท่าเทียมกันตามกฏหมาย
- สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย
- ไม่ถูกคุมขังโดยพลการ
- บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
- ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม
- เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน
- สิทธิความเป็นส่วนตัว
- เสรีภาพในการเดินทาง
- สิทธิที่จะลี้ภัย
- สิทธิที่จะมีสัญชาติ
- เสรีภาพในการแต่งงาน
- สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน
- เสรีภาพในการนับถือศาสนา
- เสรีภาพในการแสดงออก
- เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ
- การมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ
- การได้รับการดูแลและคุ้มครองจากรัฐ
- สิทธิในการทำงาน
- สิทธิในการพักผ่อน
- คุณภาพชีวิตที่ดี
- สิทธิในการศึกษา
- สันติภาพระหว่างประเทศ
- เคารพสิทธิผู้อื่น
- ไม่มีใครเอาสิทธิเหล่านี้ไปจากเราได้