เปิดที่มา ‘ลัทธิอนุตตรธรรม’ คืออะไร หลังโรงเรียนดังอุบลฯ บังคับนักเรียนทำพิธีประหลาด
กลายเป็นดราม่าร้อนในโลกออนไลน์หลังโรงเรียนดังในจังหวัดอุบลราชธานี อ้างจัดเข้าค่ายอบรมธรรมะ แต่ให้เด็กนักเรียนเข้าร่วมพิธีกรรมประหลาด ให้นักเรียนเขียนชื่อใส่กระดาษแล้วนำไปเผาเพื่อลบชื่อออกจากบัญชียมทูต ซึ่งดราม่าดังกล่าวถูกพูดถึงจนติดเทรนด์อันดับหนึ่งใน Twitter #bmfact
ภายหลังมีชาวเน็ตหลายคนออกมาเปิดเผยว่าการจัดอบรมในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายพิธีกรรมจาก “ลัทธิอนุตตรธรรม” จึงทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าลัทธิดังกล่าวคืออะไร มาจากไหน ทำไมถึงมีลัทธินี้ปรากฏในประเทศไทยได้ ซึ่งจากดราม่าที่เกิดขึ้นหลายคนก็มองว่าลัทธิดังกล่าวค่อนข้างอันตรายและงมงาย แต่ความจริงเป็นอย่างไรนั้นลองไปศึกษาข้อมูลของลิทธินี้พร้อมกันเลยดีกว่า
ประวัติ ‘ลัทธิอนุตตรธรรม’ คืออะไร
สำหรับ “ลัทธิอนุตตรธรรม” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิถีอนุตตรธรรม” เป็นลัทธิที่ผสมผสานความเชื่อจากหลากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนเมื่อปี 1877 แต่ไม่ได้รับการยอมรับ ซ้ำยังถูกรัฐบาลจีนยุคคอมมิวนิสต์กวาดล้างอย่างหนัก จึงทำให้ลัทธิอนุตตรธรรมต้องย้ายไปเผยแพร่ที่ไต้หวันในปี 1946
ต่อมาในปี 1987 ลัทธิอนุตตรธรรมก็ได้รับการรับรองในไต้หวัน และมีผู้นับถือมากเป็นอันดับสาม รองจากศาสนาพุทธ และลัทธิเต๋า ส่วนในด้านหลักคำสอนนั้น ทางลัทธินี้ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อของลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า ศาสนาพุทธแบบจีน และความเชื่อจากศาสนาอื่น ๆ อย่าง ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามด้วย ซึ่งทางสมาคมพุทธศาสนาในไต้หวันเองก็กล่าวว่าลัทธินี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธแต่อย่างใด
ลัทธิอนุตตรธรรมจะนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ โดยมี “พระแม่องค์ธรรม” เป็นพระเจ้าสูงสุดของลัทธิ เป็นพระผู้สร้างและก่อกำเนิดทุกสรรพสิ่งในอนันตจักรวาล ซึ่งชาวลัทธิอนุตตรธรรมจะเรียกพระแม่องค์ธรรมว่า “หมิงหมิงซั่งตี้” นอกจากนี้ชาวลัทธิเองก็ยังเคลมว่าพระศรีอริยเมตไตรย ถือเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายที่ได้รับภารกิจให้ลงมาโปรดสัตว์โลกจากพระแม่องค์ธรรม
สิ่งวิเศษ 3 ประการ ของ ‘ลัทธิอนุตตรธรรม’
สำหรับชาวลัทธิอนุตตรธรรมจะมีการนับถือสิ่งที่วิเศษสุดเรียกว่า “ไตรรัตน์” ซึ่งจะเปิดเผยให้กับเฉพาะผู้ที่ได้รับอาณัติสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรมเท่านั้น และถ่ายทอดให้เฉพาะบุคคลที่ได้อนุตตรธรรมใน “พิธีถ่ายทอดเบิกธรรม” ซึ่งเป็นพิธีลับห้ามบอกต่อ โดยไตรรัตน์มีทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่
1. จุดญาณทวาร
เป็นตำแหน่งที่ตั้งอยู่บริเวณเหนือดั้งจมูก กึ่งกลางระหว่างคิ้วสองข้าง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดที่วิญญาณสถิตอยู่ เป็นที่สำหรับเข้าและออกของวิญญาณ กล่าวคือหากมาเกิดวิญาณก็จะเข้ามาสุู่จุดนี้ และหากตายวิญญาณก็จะออกจากร่างผ่านจุดนี้เช่นกัน
ลัทธิอนุตตรธรรมจะถือว่าจุดญาณทวารเป็นประตูสู่นิพพาน หากร่างกายสิ้นอายุขัยและวิญญาณได้ออกจากร่างผ่านจุดนี้ก็จะได้ไปสวรรค์ แต่ถ้าหากวิญญาณออกจากร่างทางอื่นก็จะไปเกิดเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากเปิดจุดนี้ในพิธีรับธรรม คนผู้นั้นก็จะบรรลุเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
2. สัจจคาถา
เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่สุด มีด้วยกันทั้งหมด 5 คำ “อู๋ ไท่ ฝอ หมี เล่อ” โดยคาถาดังกล่าวถือเป็นความลับของสวรรค์ ห้ามจดบันทึกเด็ดขาด และห้ามนำไปบอกต่อ แต่ในยามวิกฤตหากได้ท่องคาถานี้แล้วก็จะแคล้วคลาดปลอดภัย
ทั้งนี้ทางลัทธิอนุตตรธรรมไม่ได้บอกวิธีการให้ได้มาซึ่งคาถาดังกล่าว แต่ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าต้องท่อง อู๋ ไท่ ฝอ หมี เล่อ จึงจะมีชีวิตที่ราบรื่นและพ้นจากกรรมทั้งปวง
3. ลัญจกร
เป็นท่าทางแสดงสัญลักษณ์ในพิธีกรรม โดยการนำปลายนิ้วโป้งขวาจรดโคนนิ้วนางขวาค้างไว้ แล้วนำปลายนิ้วโป้งซ้ายมากดที่โคนนิ้วก้อยขวา จากนั้นโอบมือเข้าหากันโดยให้มือซ้ายทับขวา เป็นท่าห่อประสานมือให้มีลักษณะเหมือนรากบัว
การประสานมือในลักษณะดังกล่าว ชาวลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าเป็นท่าไหว้ในยุคของพระศรีอริยเมตไตรย ที่จะเกิดขึ้นในธรรมกาลยุคขาว ซึ่งเป็นท่าทางที่แฝงความหมายทางจิตวิญญาณเอาไว้
ความแตกต่างระหว่าง ‘ศาสนาพุทธ’ และ ‘ลัทธิอนุตตรธรรม’
แม้ตามประวัติศาสตร์แล้ว ลัทธิอนุตตรธรรมจะมีรากฐานมาจากศาสนาหลายศาสนาก็ตาม ซึ่งในนั้นเป็นศาสนาพุทธแบบจีนรวมอยู่ด้วย แต่กลับมีความแตกต่างจากศาสนาพุทธอย่างชัดเจน โดยประการแรกคือลัทธิอนุตตรธรรมจะมีพระแม่องค์ธรรมเป็นพระเจ้าสูงสุดของศาสนา แต่ศาสนาพุทธไม่มีเทพเจ้าและไม่มีพระเจ้า
นอกจานี้อีกความเชื่อที่โดดเด่นมาก ๆ อย่างหนึ่งของลัทธิอนุตตรธรรม คือการที่ผู้ที่นับถือลัทธินี้สามารถเรียกศาสดาของลัทธิหรือศาสนาต่าง ๆ มาเข้าทรงได้ผ่านการใช้ร่างของหญิงสาวพรหมจรรย์เรียกว่า “ร่างคุณ” ซึ่งในทางพุทธศาสนามองว่าการเข้าทางเป็นเดรัจฉานวิชาที่ไม่ช่วยให้ชาวพุทธเข้าสู่นิพพาน
ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะทางลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าหากผู้ใดหันมานับถือลัทธินี้ จะได้รับการช่วยแบกกรรมจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือไม่ต้องรับกรรมเอง ซึ่งต่างจากศาสนาพุทธที่สอนว่าสัตว์โลกล้วนมีกรรมเป็นของตน ไม่ว่าจะกรรมดีหรือกรรมชั่ว เจ้าของกรรมนั้นย่อมเป็นผู้รับผลกรรมแต่เพียงผู้เดียว
‘ลัทธิอนุตตรธรรม’ ในประเทศ มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
ในประเทศก็มีการเผยแผ่ลัทธิอนุตตรธรรมด้วยเช่นกัน โดยทางผู้เชี่ยวชาญอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เปิดเผยข้อมูลว่าลัทธิอนุตตรธรรมเดินทางมาสู่ประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยผู้นำลัทธินี้เข้ามาเป็นเพศหญิง
นอกจากนี้อาจารย์ชาญณรงค์ยังกล่าวด้วยว่าลัทธินี้ไม่ต่างอะไรกับลัทธิโยเร และลัทธิโซกะกาไก ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย เนื่องจากหลักคำสอนและพิธีกรรมแสดงออกถึงความงมงายและความไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก
แม้ลัทธินี้จะไม่ได้อันตรายถึงขั้นทำลายความมั่นคงของชาติ แต่ก็ไม่ควรต้องบีบบังคับใครเพื่อให้เข้าร่วมลัทธิ เพราะนอกจากจะถูกทำให้หลายคนมองว่าไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังตกเป็นที่น่ารังเกยจและทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัวอีกด้วย
หมายเหตุ : รูปภาพในบทความนี้เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับลัทธิอนุตตรธรรม