วันที่ 1 ธันวาคม 2565 วันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสุขภาพ ในการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ รวมทั้งแนวทางการป้องกัน และรณรงค์ให้คนทั่วโลกปรับมุมมอง เพราะเอดส์ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
ชวนทำความรู้จักประวัติ วันเอดส์โลก หรือ World AIDS Day ตรงกับวัน 1 ธ.ค. 2565 เพื่อรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ อีกทั้งในประเทศไทยเอง สถานการณ์ของโรคเอดส์ ยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นวันนี้ จึงเป็นวันสำคัญที่คนทั่วโลก ควรตระหนักถึงปัญหา และวิธีการป้องกันโรคร้ายนี้
วันเอดส์โลก (World AIDS Day)
วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดย โรคเอดส์ เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะนั้นจะรู้จักเพียงเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น
ต่อมามีการแพร่ระบาดโรคนี้ไปอย่างรวดเร็วและทั่วโลก จนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนเป็นที่น่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา
ผู้ป่วยโรคเอดส์รายแรกของโลก เป็นชายรักร่วมเพศป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อ นิวโมซีสตีส แครินิอาย (Pneumocystis Carinii) ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมากมาก่อน ผลการตรวจพบว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ พบว่าโรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบอัฟริกาตะวันตกในปี พ.ศ. 2503 และต่อมาได้แพร่ไปยังเกาะไฮติ ทวีปอเมริกา ยุโรปและเอเซียรวมทั้งประเทศไทย
ในเวลาต่อมาต่อมา Levy นายแพทย์ชาวอเมริกัน สามารถแยกเชื้อจากต่อมน้ำเหลืองของผู้ป่วย เป็นการต่อยอดการทดลองของ Luc Montagnier และตั้งชื่อว่า AIDS related virus ซึ่งต่อมามีชื่อสากลว่า Human Immounodeficiency Virus หรือ HIV
เอดส์ (AIDS) กับ เอชไอวี (HIV) ต่างกันอย่างไร ?
HIV ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus เชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ โดยเชื้อเอชไอวี จะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ให้ต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกายเวลาที่เราเจ็บป่วย
AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome (โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง) โรคเอดส์จะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกเชื้อเอชไอวีบั่นทอนให้อ่อนแอลง จนถึงขั้นที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆได้อีก จนเริ่มติดเชื้อ หรือเกิดเป็นโรคต่าง ๆ
สรุป HIV เป็นไวรัส ต้นกำเนินที่มำให้เกิดโรคเอดส์ ซึ่งไวรัสเอสไอวี จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่เป็นระบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาวะ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเอดส์ ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมานั่นเอง
ดังนั้น ใครที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะเป้นโรคเอดส์ เพราะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยร่วมด้วยนั่นเอง
โรคเอดส์ ในประเทศไทย
สำหรับผู้ป่วยเอดส์รายแรกในประเทศไทยนั้น เป็นชายอายุ 28 ปี เดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกาและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เริ่มมีอาการในปี พ.ศ. 2526 ได้รับการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่าปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis Carinii แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคเอดส์ จึงกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2527 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ในช่วง ปี พ.ศ. 2527 จนถึงปี พ.ศ. 2533 จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเอดส์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบให้มีคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับโรคเอดส์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528
ความสำคัญของวันเอดส์โลก
เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) หรือ WHO ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2531 เป็นปีแรก โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ คือ
- เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อและการเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์
- เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนให้มีมาตรการการป้องกันให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ
- เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ
- เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ในทุกวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ทั่วโลกจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันเอดส์โลก เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนได้ให้ความเห็นใจและห่วงใยต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ตลอดจนให้ทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้การขยายตัวของโรคนี้ลดน้อยลง
โดยในปี 2022 นี้ได้มีคำขวัญวันเอดส์โลกคือ “Putting Ourselves to the Test: Achieving Equity to End HIV.”
ขอบคุณข้อมูล Wikipedia