พบเดลตาครอนในไทย คาดแพร่ง่ายแต่ไม่รุนแรง ล่าสุดผู้ป่วยหายแล้ว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยพบ เดลตาครอนในไทย 1 ราย คาดแพร่เชื้อง่ายแต่ไม่รุนแรง ล่าสุดผู้ป่วยหายแล้ว
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลสถานการณ์โควิดในประเทศไทย โดยเปิดเผยว่าพบผู้ป่วยเดลตาครอนในประเทศไทย แต่อาการไม่รุนแรง ปัจจุบันผู้ป่วยคนดังกล่าวหายและกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้แล้ว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบ จากผู้เดินทางเข้าประเทศ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2565 ผลการตรวจเฝ้าระวัง แบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 299 ราย
พบว่า ในภาพรวมสัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 63.3% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 42.9% และเมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นจาก 23.2% เป็น 43.9% และล่าสุดเป็น 58.8%
จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) มากกว่า 468 ราย (จำนวนนี้รวมจำนวน 216 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเข้าเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID) โดยพบว่า BN.1 และลูกหลาน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน ถึง 4 เท่าตัว การเพิ่มจำนวนที่รวดเร็วของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์กลายพันธุ์ มีความเป็นไปได้ของการเพิ่มจำนวนการติดเชื้อ จนกระทั่งทดแทนสายพันธุ์เดิมที่กระจายอยู่ในพื้นที่
นอกจากนี้พบสายพันธุ์ XBB.1 จำนวน 4 ราย และ BQ.1 จำนวน 7 ราย สำหรับสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน ขณะนี้พบในประเทศไทยแล้ว จำนวน 1 ราย ทั้งนี้สายพันธุ์ XBC เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2
ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 รายงานพบสายพันธุ์ XBC จากหลายประเทศบนฐานข้อมูลสากล GISAID จำนวน 153 ราย ทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น โดยในรายของผู้ป่วยที่ตรวจพบสายพันธุ์ XBC เป็นรายแรกของไทยนั้น ปัจจุบันหายเป็นปกติดีแล้ว