ไขข้อข้องใจ ‘ไม่ใส่กางเกงใน เสี่ยงเป็นไส้เลื่อน’ จริงหรือไม่ ?
ไขข้อสงสัย ไม่ใส่กางเกงใน เสี่ยงเป็นไส้เลื่อน ? ส่องความเชื่อโบราณ พร้อมผลสรุปทางการแพทย์ ชายคนไหนไม่ชอบใส่กางเกงในต้องรีบอ่านโดยด่วน
เชื่อว่าชายทั้งหลายมักจะเคยได้ยินคำเตือนจากผู้ใหญ่มาตั้งแต่จำความได้ “ไม่ใส่กางเกงใน ระวังเป็นไส้เลื่อนนะ” ทำเอาหลายคนไม่กล้าใช้ชีวิตแบบโล่งโปร่งสบายเลยก็มี แม้กระทั่งเวลานอน วันนี้ The Thaiger จะพามาหาข้อสรุป และไขความกระจ่างว่า ใส่กางเกงใน ป้องกันโรคไส้เลื่อน ได้จริงไหมนะ
โรคไส้เลื่อน คืออะไร ?
ไส้เลื่อน (hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เกิดการเคลื่อนตัวออกจากจุดเดิมจนกลายเป็นก้อน โดยเกิดมาจากผนังช่องท้องที่มีความอ่อนแอซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแต่ละบุคคล
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ ไส้เลื่อนเนื่องจากการผ่าตัด ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ ไส้เลื่อนบริเวณหน้าท้องเหนือสะดือ ไส้เลื่อนบริเวณกระบังลม เป็นต้น ซึ่งมีสาเหตุการเกิดแบบเดียวกัน
สาเหตุของไส้เลื่อนมาจากอะไร ?
สำหรับสาเหตุของไส้เลื่อน โดยปกติจะเกิดจากผนังช่องท้องไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากผลกระทบจากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ด้วย ได้แก่ การยกของหนักจนเกิดอาการเกร็ง เกิดจากแรงดันภายในช่องท้อง เช่น ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ มีปัญหาด้านการขับถ่าย มีอาการไอหรือจามอย่างรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น วัณโรค เกิดจากน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือผู้ที่เคยเป็นไส้เลื่อนมาก่อน เป็นต้น
นอกจากนี้การที่เบ่งปัสสาวะแบบแรง ๆ เนื่องจากปัสสาวะไม่ออก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไส้เลื่อนด้วยเช่นกัน
‘ไม่ใส่กางเกงใน เสี่ยงเป็นไส้เลื่อน’ ?
จากคำกล่าวที่ว่า โรคไส้เลื่อน เป็นเพราะไม่ใส่กางเกงใน คำกล่าวนี้ ไม่จริง แต่เป็นเพียงความเชื่อแบบเก่า เนื่องจากโรคนี้มักจะเกิดกับผุ้ชายเป็นส่วนใหญ่
เมื่อลองพิจารณาจากสาเหตุข้างต้น จะพบว่ากิจกรรม หรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนนั้น เป็นกิจกรรมที่ผู้ชายมักจะเป็นผู้ทำเป็นหลัก ทั้งยกของหนัก รวมถึงอาการไอที่รุนแรงกว่าผู้หญิงนั่นเอง
วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อน
สำหรับการรักษา โรคไส้เลื่อน (hernia) สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น การผ่าตัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- การผ่าตัดแบบเปิด ถือเป็นการผ่าตัดตามแบบมาตรฐาน
- การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีแผลการผ่าตัดที่เล็ก
การป้องกันโรคไส้เลื่อน
โรคไส้เลื่อน สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ด้วยการคอยรักษาแรงดันในช่องท้องให้เป็นปกติหรือพยายามลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเกร็งหน้าท้อง โดยมีกระบวนการป้องกัน ได้แก่ พยายามควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยระบบขับถ่าย เช่น ไฟเบอร์
ไม่ยกของหนักแต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ต้องยกอย่างถูกวิธี งดการสูบบุหรี่ เข้ารับการรักษาโรคที่ส่งผลให้มีอาการไอหนัก ๆ
ขอย้ำอีกครั้งว่า โรคไส้เลื่อน ไม่เกี่ยวข้องกับการไม่ใส่กางเกงใน แต่อย่างใด ดังนั้นท่านชายทั้งหลาย สามารถสบายใจ ปล่อยน้องชายเป็นอิสระตอนได้อย่างแน่นอน
และที่สำคัญโรคไส้เลื่อนนั้นสามารถเกิดได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง ดังนั้นหากไม่ต้องการเป็นโรคร้ายนี้เราต้องคอยดูแลสุขภาพของตนเองที่อาจส่งผลต่อช่องท้องของเราทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งถือเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดนั่นเอง