ประวัติ ‘ครูเสนาะ หลวงสุนทร’ ศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและสากล
หลังจากมีข่าวว่า “ครูเสนาะ หลวงสุนทร” เสียชีวิตแล้ว ด้วยอายุ 88 ปี นับเป็นเรื่องที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้แก่บุคคลในวงการดนตรีไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากครูเสนาะนั้นเป็นหนึ่งศิลปินแห่งชาติที่มีความรู้ความสามารถในทางดนตรีไทยเป็นอย่างดี โดยครูเสนาะถือเป็นบรมครูด้านระนาดเอกของคนไทยเลยก็ว่าได้
สำหรับประวัติของ”ครูเสนาะ” หรือ “ผู้พันเสนาะ” เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนโรงเรียนธรรมโชติในระดับประถมศึกษา จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนวัดพระยาทำ กรุงเทพมหานคร และสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตร กรมยุทธศึกษาทหารบก หลังจากนั้นครูเสนาะก็ได้เข้ารับราชการทหารที่กองดุริยางค์ทหารบกและโรงเรียนดุริยางค์ทหารบก จนเกษียณอายุราชการ
ครูเสนาะนั้นเริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกกับคุณตาถม เจริญผล ตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยฝึกเล่นฆ้องวงใหญ่เป็นดนตรีชิ้นแรก ต่อมาจึงเรียนระนาดเอกและปี่ในกับครูบาง หลวงสุนทร ผู้เป็นพ่อ หลังจากนั้นก็ได้รับการฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งในกาลนี้ครูเสนาะก็ได้เรียนรู้เรื่องระนาดเอกมาเป็นอย่างดี จึงทำให้มีฝีมือมากและเป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีไทย
นอกจากนี้ครูเสนาะยังได้เรียนวิชาดนตรีกับครูดนตรีไทยชื่อดังอีกหลายท่าน เช่น ครูเผือด นักระนาด, หลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตรวิลัย), ครูเจียร มาลัยมาลย์, ครูบุญยงค์ เกตุคง, ครูสมาน ทองสุโชติ และครูสาลี่ มาลัยมาลย์ เป็นต้น ซึ่งการเป็นลูกศิษย์สายตรงจากครูบาอาจารย์ด้านดนตรีไทยนี้เองที่ทำให้ครูเสนาะมีความเชี่ยวชาญในด้านดนตรีไทยเป็นอย่างมาก
แต่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านดนตรีไทยแล้ว ครูเสนาะก็ยังเก่งกาจทางด้านดนตรีสากลมาก ๆ อีกเช่นเดียวกัน โดยครูเสนาะสามารถเล่นเครื่องสากลได้หลายอย่าง เช่น คลาริเน็ต และแซกโซโฟน เป็นต้น อีกทั้งครูเสนาะก็ยังมีความรู้ในด้านการอ่านและเขียนโน้ตสากลอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นครูดนตรีที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ของดนตรีอย่างแท้จริง
กระทั่งในปี พ.ศ. 2555 ครูเสนาะก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) โดยหลังจากที่เกษียณอายุราชการแล้ว ครูเสนาะก็ได้อุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับการบันทึกบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเองกว่า 40 เพลง และบทเพลงที่ได้เรียนรู้จากครูดนตรีอีกกว่า 500 เพลง โดยบันทึกเป็นโน้ตสากลเพื่อมอบให้กับมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ไว้เป็นสมบัติของลูกหลานชาวไทยสืบไป.