25 พ.ย. 65 ‘วันประถมศึกษาแห่งชาติ’ ที่มาและความสำคัญของการศึกษาภาคบังคับ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 นอกจากจะเป็นวันวชิราวุธ หรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ยังถือเป็น “วันประถมศึกษาแห่งชาติ” วันสำคัญของระบบการศึกษาในประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับวันประถมศึกษาแห่งชาตินั้น เกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเยาวชนของประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับของประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นได้ เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 6 ที่ได้ทรงตรากฎหมายการศึกษาภาคบังคับขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เยาวชนไทยเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันทุกคน
ประวัติ ‘วันประถมศึกษาแห่งชาติ’ ที่มาการศึกษาภาคบังคับของไทย
สำหรับวันประถมศึกษาแห่งชาตินั้น แต่เดิมแล้วตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 เป็นวันแรก โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้กำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องเรียนหนังสือในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับเล่าเรียนใด ๆ
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดวันประถมศึกษา เป็นวันที่ 1 ตุลาคม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491-2509 หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2523 มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษา และเปลี่ยนวันประถมศึกษาให้เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เนื่องจากในวันดังกล่าวเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 จึงถือว่าเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของพระองค์ที่มีต่อวงการการศึกษาไทยไปในตัว
และไม่ใช่เพียงแค่การจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น สำหรับคุณูปการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในด้านการศึกษา พบว่ามีพระราชกรณียกิจสำคัญอีกมากมายที่พระองค์ทรงทำไว้เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศชาติ
อย่างที่ทราบกันดีว่าพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละรัชกาลจะสร้างวัดประจำพระองค์ไว้ แต่รัชกาลที่ 6 ท่านทรงเห็นว่าพระอารามในประเทศไทยที่มีขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเล่าเรียนของประชาชนนั้นมีมากแล้ว จึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างสถานศึกษาอย่างจริงจังแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล โดยโรงเรียนแรกที่สร้างคือ “โรงเรียนเรียนมหาดเล็กหลวง” หรือ “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2459 พระองค์ยังทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐาน “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย นับว่าพระองค์ทรงมีคุณูปการต่อวงการการศึกษาของคนไทยตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษาเลยทีเดียว
ความสำคัญของการศึกษาภาคบังคับในสังคมไทยปัจจุบัน
สำหรับการศึกษาภาคบังคับของไทยในปัจจุบันนั้น ยึดตามพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มในฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 กำหนดว่า การศึกษาภาคบังคับ หมายความว่า ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปี
โดยเด็กที่อายุย่างเข้า 7 ปี ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้า 16 ปี กล่าวคือเยาวชนไทยจะได้รับการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้แนวการจัดการศึกษายังต้องยึดความสำคัญที่ผู้เรียนเป็นหลักอีกด้วย จึงจะเห็นได้ว่าการวางรากฐานการศึกษาภาคบังคับที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างมาก
ทั้งหมดนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน และต้องการให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน.