ครบรอบ 116 ปี ร่วมระลึกการสถาปนากองทัพเรือ พ.ศ. 2443 ในวันกองทัพเรือแห่งชาติ พร้อมเทิดพระเกียรติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ในพิธีวางพวงมาลาและการสวนสนาม
เปิดประวัติความเป็นมา “วันกองทัพเรือแห่งชาติ” (Royal Thai Navy Day) ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ครบรอบ 116 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือพระราชวังเดิมกรุงธนบุรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 และยังตรงกับงาน100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยมีรายละเอียดของประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทยดังนี้
รู้จัก “วันกองทัพเรือไทย” 20 พฤศจิกายน
ย้อนประวัติวันกองทัพเรือแห่งชาติภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง
ดังนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรส เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังประเทศอังกฤษ
จากนั้นเมื่อพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ ก็ได้กลับมาวางรากฐานระบบราชการในกรมทหารเรือ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารเรือ จัดการฝึกสอนวิชาการทหารเรือขึ้นครั้งแรกที่โรงเรียนนายสิบ ในปี พ.ศ. 2434
ในเวลาต่อมาทรงจัดตั้ง โรงเรียนนายร้อยทหารเรือขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2440 และจัดตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2442 ที่วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) มีนาวาโทไซเดอลิน (Seidelin) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือคนแรก
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาพระราชทาน พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา พร้อมทั้งด้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียน ความว่า
“วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เหนการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบต่อไปในภายน่า”
ประวัติกรมหลวงชุมพรฯ
นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 ทรงเป็นต้นราชสกุล “อาภากร” เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระมารดาเจ้าจอมมารดาโหมด ป.จ. พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า “องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย”
พระองค์เป็นผู้ริเริ่มรากฐานระบบราชการในกองทัพเรือไทยให้มีความทันสมัยทัดเทียมชาติตะวันตกในเวลานั้น ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” หรือ “หมอพร” และ “พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย”
ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ ได้มีการจัดสร้างศาลและพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย เช่น โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หรือที่พระตำหนักที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร
กิจกรรมวันกองทัพเรือไทย
ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ครบรอบ 116 ปี วันกองทัพเรือไทย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือพระราชวังเดิมกรุงธนบุรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 ยังตรงกับช่วงการจัดงาน 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่จะครบกำหนดในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566
ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้กำหนดจัดงานวันกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ประกอบด้วย พิธีทำบุญประจำปี เพื่อความเป็นสิริมงคล ในช่วงเช้า ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม และงานรับรองวันกองทัพเรือในช่วงค่ำ ณ หอประชุมกองทัพเรือ
อ้างอิง : 1