ประกาศปรับข้อกำหนด กัญชา-กัญชงในอาหาร เช็กค่า THC-CBD ห้ามเกินเท่าไหร่
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ปรับปรุงข้อกำนดค่า THC – CBD เช็กเลยตอนนี้ ส่วนผสม กัญชาในอาหาร กัญชงในผลิตภัณฑ์ ห้ามเกินเท่าไหร่ อาทิ เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดกัญชง
ข่าวกัญชาในอาหาร – ภายหลังจากเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2565 โดยปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง รวม 3 ฉบับ
สำหรับในส่วนรายละเอียดของประกาศปรับปรุงส่วนผสมกัญชา-กัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารทั้งสามฉบับ มีดังนี้
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 437) พ.ศ.2565 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชงฯ (ฉบับที่ 2) ซึ่งยกเลิกข้อกำหนดปริมาณสูงสุดของสาร CBD ในผลิตภัณฑ์จากเมล็ดกัญชง เนื่องจากสาร CBD พบได้น้อยมากในเมล็ดกัญชงและไม่มีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย
2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 438) พ.ศ.2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่ 2) เป็นการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานอาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค กรณีกลุ่มเครื่องปรุงรส ให้มีสาร THC ไม่เกิน 0.0032% โดยน้ำหนัก และสาร CBD ไม่เกิน 0.0028% โดยน้ำหนัก เนื่องจากเครื่องปรุงรสจะใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยในการปรุงอาหาร
ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นให้มีสาร THC ได้ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ สำหรับกรณีที่ไม่ได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคหรือขายเป็นวัตถุดิบให้กับสถานที่ผลิตอาหาร ให้กำหนดปริมาณ THC/CBD และคำเตือนให้เหมาะสมกับการผลิตอาหารในสถานที่ผลิตนั้น นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงข้อกำหนดการแสดงฉลากให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ให้ระบุข้อความว่า ไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ ข้อความแสดงวิธีใช้ที่เข้าใจง่าย และกรณีที่ไม่ได้จำหน่ายตรงต่อผู้บริโภคต้องมีข้อความ “ห้ามจำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค”
3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 439 พ.ศ. 2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่ 2) โดยเพิ่มข้อกำหนดกรณีสารสกัด CBD ที่ผสมกับวัตถุอื่นเพื่อช่วยในกระบวนการผลิตหรือเพื่อปรับแต่งคุณสมบัติการละลายน้ำของสารสกัด CBD ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร และปรับแก้ไขข้อกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและปริมาณสารสกัด CBD สูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้เหมาะสมมากขึ้น
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข