หนัก ! เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำท้ายเขื่อนทะลุ 3,100 ลบ.ม./วินาที สูงสุดในรอบปี
สถานการณ์น้ำ เขื่อนเจ้าพระยา แตะระดับวิกฤติระบายทะลุ 3,100 ลบ.ม.ต่อวินาที ด้าน ตลาดสรรพยา จ.ชัยนาท จมบาดาลลึกกว่า 2 เมตร ชาวบ้านขนของหนี ปรับระดับการแจ้งเตือนจากธงเหลือง ในสถานการณ์เฝ้าระวัง ขึ้นเป็นธงแดง ซึ่งเป็นสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ เป็นวันที่ 3 ต่อเนื่อง
รายงานสถานการณ์ วันที่ 10 ตุลาคม 2565 สถานการณ์น้ำ ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลงสู่ภาคกลาง
ล่าสุด พบว่า น้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาผ่านจุดวัดน้ำค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำฝนจากทางตอนบนของประเทศ วัดได้อัตรา 3,094 ลบ.ม./วินาที โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ล่าสุด วัดได้ +17.70 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง ระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนริมตลิ่งเหนือเขื่อน ส่วนท้ายเขื่อนระดับน้ำที่เข้าท่วมแล้วเพิ่มสูงขึ้นรายชั่วโมง
ทั้งนี้ เวลา 01.00 น. วันที่ 10 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ได้ปรับเพิ่ม อัตราการระบายไปที่ 3,103 ลบ.ม./วินาที สูงสุดในรอบปี เพื่อรักษาสมดุลของน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน รองรับปริมาณน้ำฝนและ เพื่อชะลอน้ำเหนือไว้ในลำน้ำเหนือเขื่อน ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนระดับน้ำขึ้นสูงต่อเนื่อง วัดได้ 17.26 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เอ่อล้นสูงกว่าตลิ่ง 92 ซม. เป็นเกณฑ์ที่เขื่อนเจ้าพระยามีการปรับระดับการแจ้งเตือนจากธงเหลือง ในสถานการณ์เฝ้าระวัง ขึ้นเป็นธงแดง ซึ่งเป็นสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ เป็นวันที่ 3 ต่อเนื่อง
โดยเฉพาะที่บริเวณตลาดสรรพยา พื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอสรรพยา ต้องจมบาดาล ประชาชนกว่า 200 ครัวเรือนในพื้นที่ ต้องอพยพออกจากบ้าน เนื่องจากพนังกั้นน้ำแตก จนน้ำไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านอย่างรวดเร็วเมื่อ 3 วันก่อน ตอนนี้ระดับน้ำสูงตั้งแต่ 60 ซม. จนถึง 2 เมตรกว่า ในบางพื้นที่ ทำให้บางบ้านเริ่มเข้าไปขนของที่ตอนน้ำท่วมใหม่ๆ ไม่สามารถนำออก มาได้ เนื่องจากตอนนี้ระดับน้ำเริ่มนิ่งแล้ว จึงอาศัยช่วงนี้เข้าไปขนของออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งน้ำได้เอ่อมาจนถึงถนน ยังมีอีกหลายบ้านที่ยังอาศัยอยู่เพราะระดับน้ำยังไม่เข้าในตัวบ้าน แต่ทางหน่วยงานได้มาประกาศเตือนให้ระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ เขื่อนเจ้าพระยามีแผนคงการระบายน้ำไว้ในเกณฑ์ +3,000 ลบ.ม. ไปจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม เพื่อพร่องน้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนที่กำลังเต็มความจุลำน้ำ และลดผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งเหนือเขื่อน แต่จะกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งจะมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้อีก จึงควรเตรียมรับมือ
- GISTDA รายงานพบ พื้นที่น้ำท่วมขัง 6.5 แสนไร่
- น้ำท่วมอยุธยา วอนหน่วยงานเร่งช่วย 2 ผู้ป่วยติดเตียงนอนกลางน้ำ
- น้ำท่วมอุบลฯ เดือดร้อนหนัก อ่วมสุดรอบ 44 ปี ไม่มีใครช่วย