ประยุทธ์ ลุยน้ำท่วมช่วยคนอุบลฯ กำชับจ่ายเยียวยาเร็วที่สุด
ประยุทธ์ ลุยน้ำท่วมอุบล ให้กำลังใจผู้ประสบภัย ยืนยันรัฐบาลไม่ทอดทิ้ง กำชับส่วนราชการเร่งสำรวจความเสียหาย เตรียมจ่ายเงินเยียวยาให้เร็วที่สุด
ภายหลังจากวันนี้ (4 ต.ค.65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจเยี่ยมศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยและเยี่ยมเยียนบ้านเรือนประชาชน ณ ชุมชนวัดวารินทราราม ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ มีขึ้นเพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่
ในส่วนของรายละเอียด นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำกับการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า ตนต้องการมารับทราบข้อมูลปัญหาในพื้นที่โดยตรงเพื่อจะได้นำไปแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด พร้อมทั้งติดตามการแก้ไขปัญหา ซึ่งบางพื้นที่ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่บางพื้นที่ยังทรงตัว
ยืนยัน รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา โดยได้เตรียมงบประมาณไว้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาหลังสถานการณ์คลี่คลาย
นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ ก็ได้กำชับให้ส่วนราชการเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายให้ถี่ถ้วนครอบคลุมความเสียหายทุกด้าน พร้อมนำเสนองบประมาณให้รัฐบาลพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อเร่งจ่ายเงินให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนนำไปใช้จ่ายบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
ทั้งนี้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี วันที่ 4 ตุลาคม 2564 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยจํานวน 17 อําเภอ คาดว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 131,037.50 ไร่ พื้นที่ประมง ได้รับผลกระทบ 10 อำเภอ คาดว่าได้รับความเสียหาย 581.75 ไร่ ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 21,235 ครัวเรือน
ด้านการช่วยเหลือและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยขึ้น โดยบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โดยการเชื่อมโยงข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ และการคาดการณ์จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดขณะเยวกันทางจังหวัดก็มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบส่งน้ำ รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการประเมินผลกระทบต่อประชาชนที่อาจจะขยายวงกว้างขึ้นในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อป้องกันและลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้สามารถเตรียมรับสถานการณ์ได้ทันต่อเหตุการณ์
ในส่วนของโครงการชลประทานอุบลราชธานี สํานักงานชลประทานที่ 7 ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้เพิ่มการระบายนํ้าจากเขื่อนลําโดมใหญ่ให้ระบายลงสู่แม่น้ำมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ สํานักเครื่องจักรกล ติดตั้งเครื่องผลักดันนํ้าในลํานํ้ามูล 140 เครื่อง บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร ติดตั้งเครื่อง Hydro Flow 10 เครื่อง และเครื่องสูบนํ้าอีก 10 เครื่องบริเวณแก่งสะพือ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงแล้ว
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาล