ข่าว

ประเทศไทยเข้าฤดูหนาว ปลายเดือนตุลาคม 2565 กรมอุตุฯ คาดหนาวกว่าปีก่อน

กรมอุตุฯ ออกประกาศ คาดหมายช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว อาจเป็นต้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม 65 เผยลมหนาวมาช้า แต่หนาวกว่าปีก่อน

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศแจ้งการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2565-2566 โดยประเทศไทยอาจจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงต้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม 2565 จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566

สำหรับฤดูหนาวในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาเปิดเผยว่าลมหนาวจะมาเยือนประเทศไทยช้ากว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์ และจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา โดยบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20-21 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 15-18 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังได้แจ้งอีกว่า ช่วงเวลาที่อากาศหนาวเย็นที่สุดจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงปลายเดือนมกราคม 2566 และในบริเวณยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขา จะมีอากาศหนาวเย็นถึงหนาวจัด และอาจจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้แจ้งเตือนอีกด้วยว่า ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปีนี้ อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ หรือเคลื่อนตัวผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งมีคลื่นลมกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง โดยความสูงของคลื่นจะอยู่ที่ 3-4 เมตร

ประเทศไทยเข้าฤดูหนาว 1
ภาพจาก : ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

สำหรับรายละเอียดลักษณะอากาศในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยตามภูมิภาคต่าง ๆ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ทำการคาดหมายไว้ดังนี้

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางแห่งในบางวันทางตอนบนของภาค และมีหมอกในตอนเช้า โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ และอาจมี ลมกระโชกแรงบางแห่งในบางวัน

สําหรับช่วงเดือนธันวาคมปลายเดือนมกราคม อากาศจะหนาวเย็นมากขึ้น โดยมีอากาศหนาวเย็น เกือบทั่วไป สําหรับบริเวณยอดดอย ยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และเกิดน้ําค้างแข็งขึ้นได้ ในบางช่วง

ส่วนช่วงต้นและกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้นและมีฝน บางแห่งในบางวัน กับมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ โดยยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า และจะมีอากาศร้อน หลายพื้นที่ในตอนกลางวัน

ภาคกลางและภาคตะวันออก

ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางวันทางตอนบนของภาค กับมีหมอกในตอนเช้า โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 30 ของพื้นที่ และอาจลมกระโชกแรงบางแห่งในบางวัน

สําหรับช่วงเดือนธันวาคมปลายเดือนมกราคม จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป และมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ในบางช่วง โดยเฉพาะตอนบนของภาคและบริเวณเทือกเขา กับจะมีหมอกหนาหลายพื้นที่ในบางช่วง

ส่วนช่วงต้นและกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้นและมีฝนบางแห่งในบางวัน โดยมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ แต่สําหรับทางตอนบน ของภาคและบริเวณเทือกเขายังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย)

ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนมกราคม จะมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไป โดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง สําหรับคลื่นลมจะมีกําลังแรง จะมี คลื่นสูง 2 – 4 เมตรในบางช่วง

ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ฝนจะลดลง เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคยังคงมีฝน ร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในบางวัน

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน)

ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง สําหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร

ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง โดยมีฝนร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จะมีอากาศเย็นในบางวันกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่

สําหรับช่วงเดือนธันวาคมปลายเดือนมกราคม จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับจะมีหมอกหนาในบางช่วง

ส่วนช่วงต้นและกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะอากาศจะแปรปรวน อากาศจะอุ่นขึ้น และมีฝนในบางวัน โดยจะมีอากาศเย็นในบางวัน กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน

ประเทศไทยเข้าฤดูหนาว 2
ภาพจาก : ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้แจ้งเตือนให้ระวังลักษณะอากศแปรปรวนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2565 ไว้ดังนี้

1. ในช่วงปลายเดือนตุลาคม บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีน้ำเหนือไหลบ่าลงมา และในบางช่วงจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่

2. ในเดือนธันวาคมและมกราคม บริเวณยอดดอยและยอดภูมักจะเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ กับจะมีหมอกหนาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยานพาหนะไว้ด้วย

3. ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อาจมีคลื่นกระแสลมตะวันตก เคลื่อนตัวจากประเทศเมียนมาผ่านประเทศไทย ตอนบนซึ่งจะทําให้ช่วงดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่

ประเทศไทยเข้าฤดูหนาว 3
ภาพจาก : ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button