กนง. เคาะคง ดอกเบี้ย 0.50 ตลอดปี เงินเฟ้อจ่อทยอดลงปี 66 เล็งกระตุ้นเศรษฐกิจ
กนง. เคาะคง ดอกเบี้ย 0.50 ตลอดปี ป้องกันความเสี่ยงจากความผัวผวนของอัตราแลกเปลี่ยน คาดค่าเงินเฟ้อจ่อทยอดลงปี 66 เล็งกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ.2565 วันที่ 1 ม.ค.- 30 เพื่อหารือถึงเรื่องเงินบาทอ่อนตัว หรือ ถึงประเด็น ดอกเบี้ย กนง
นายอนุชา เผยว่าที่ประชุมมีมติคง ดอกเบี้ย กนง. ไว้ที่ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เห็นควรผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผัวผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เห็นควรให้มีมาตรการเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่ม ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาวของลูกหนี้ และประการสุดท้ายคือ การสื่อสารแนวนโยบายการเงินในประเด็นที่ประชาชนสนใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงิน
ในส่วนประเด็นอื่นๆนั้น เป้าหมายนโยบายการเงินปี 2565 ครม.เคยมีมติอนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงิน และ กนง.เคยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ปี 2565 ถึงไตรมาสที่ 1 (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
ส่วน การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดบริการเป็นสำคัญ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคบริการฟื้นตัว
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาคการส่งออก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว อีกทั้งเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 โดยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 และ 4.2 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในหมวดบริการและจากภาคท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านตลาดแรงงานมีสัญญาณดีขึ้น โดยจำนวนผู้ว่างงานปรับลดลงเข้าใกล้ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.6 สูงกว่ากรอบเป้าหมาย โดยเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงาน เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี จากราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ที่ร้อยละ 2.5
ส่วนเสถียรภาพระบบการเงิน ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังมีความเปราะบางในบางจุด โดยเฉพาะภาคครัวเรือนและบางภาคธุรกิจ โดยระบบธนาคารพาณิชย์ ยังกระจายสภาพคล่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังคงเข้มแข็ง สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และสถาบันการเงินไทยในภาพรวม มีสภาพคล่องและมีฐานะทางการเงินที่สามารถรองรับภาวะวิกฤตได้