28 กันยายน ครบรอบ 105 ปี วันพระราชทานธงชาติไทย
28 กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย เปิดประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ธงไตรรงค์ สยามประเทศ สัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติ ประเทศลำดับที่ 54 โลกที่มีวันธงชาติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ในพุทธศักราช 2460 เนื่องจากในสมัยนั้นไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่ธงจะมีสามสี
ธงชาติไทยในสมัยนั้นจึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของขนาดความกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ และเรียกธงนี้ว่า “ธงไตรรงค์” และทรงกำหนดความหมายของสีธงชาติไว้ว่า
- สีแดง หมายถึง ชาติ คือประชาชน
- สีขาว หมายถึง ศาสนา
- สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
ธงไตรรงค์ หรือ “ธงชาติไทย” ถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติเป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนได้รำลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษเพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน และร้อยดวงใจคนทั้งชาติให้เป็นหนึ่ง หล่อหลอมความรักสามัคคี สร้างเสริมความภูมิใจในความเป็นชาติ ก่อเกิดเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชาติไทยให้วัฒนาสถาพร
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) และเริ่มแรกในวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
กำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติไทย รวมถึงร้องเพลงชาติไทย ในวันดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย และวันที่ 28 กันยายน 2565 นับเป็นวันครบรอบ 105 ปี ของการพระราชทานธงชาติไทย สำหรับประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลก ที่มีวันธงชาติ
ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์