โพสต์ด่าเจ้านายบนโซเชียล ผิดกฎหมาย อาจถูกไล่ออกแบบไม่จ่ายเงินชดเชย
รู้หรือไม่ โพสต์ด่าเจ้านายบนโซเชียล อาจถูกไล่ออกแบบไม่จ่ายเงินชดเชย เพราะผิดกฎหมาย ‘จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย’ มาตรา 119 (2)
ใครชอบโพสต์ถึงบริษัท แอบด่าเจ้านายบนโซเชียลต้องระวัง เพราะอาจผิดกฎหมาย จนทำให้ถูกเลิกจ้างได้ แถมยังไม่ได้รับเงินชดเชยอีกด้วย เพราะถือว่าเป็นแพลทฟอร์มสาธารณะ อาจเข้าข่ายทำให้ผู้อื่นเสียหายได้ โดยนอกจากแพลทฟอร์มหลักอย่างเฟซบุ๊กแล้ว ช่องทางอื่น ๆ อย่าง แคปชั่นไอจี ทวีตในทวิตเตอร์ และทำคลิปด่าบริษัทใน Tiktok หรือยูทูป ก็เข้าข่ายด้วยเหมือนกันนะ
การด่าเจ้านายหรือบริษัทลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ได้เป็นอิสระอย่างที่ใครเข้าใจ เพราะตามกฎหมายหมวด 11 ค่าชดเชย มาตรา 119 ได้ระบุว่า
“นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็น ต้องตักเตือน
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวัน หยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากกฎหมายว่าด้วยเรื่องค่าชดเชยแล้ว จะพบว่า การที่ลูกจ้างโพสต์ด่าเจ้านายหรือบริษัทลงในอินเทอร์เน็ต อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 119 (2) “จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย” นั่นเอง
ตัวอย่างกรณีการเลิกจ้าง อ้างอิงจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560 ซึ่งลูกจ้างถูกไล่ออก โดยไม่ได้รับเงินชดเชย ตามมาตรา 119 (2) ปรากฏข้อความที่เป็นการด่าเจ้านาย ดังนี้
“ใครที่เกลียดเจ้านายเป็นบ้าเป็นหลัง โดนเจ้านายกลั่นแกล้ง หยุดซะเถอะความเกลียด ความโกรธ ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้นไปคนเดียว เพราะถ้ามีเจ้านายเฮงซวยจริงๆ ก็ถือว่าเจ้านายของคุณมีทุกข์เยอะที่ชีวิตเขาต้องมาเจอลูกน้องเกลียดและเขาก็จะไม่มีความสุขในสิ่งที่เขาเป็น
ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าหxอย…ลูกค้าเกลียดวันที่ลูกค้าเต็ม…ตลอด 3 ปีมานี้เขาบอกว่าขาดทุนตลอด อยู่ได้ไงตั้ง 3 ปี…งง…ให้กำลังใจกันได้ดีมากขาดทุนทุกเดือน”
ประกอบกับอีกหนึ่งข้อความคือ “เมื่อไหร่จะได้ในสิ่งที่ควรได้ว๊ะ…ต้องกินต้องใช้ ไม่ได้แดกดินแดกลมนะ”
ข้อความข้างต้นทั้งสอง ถูกศาลพิจารณาตามมาตรา 119 (2) ทำให้ผู้โพสต์หรือลูกจ้าง สิ้นสุดการเป็นพนักงานโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ฐานละเมิดพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 119 (2)
นอกจากนี้แล้วลูกจ้างที่โพสต์ข้อความดังกล่าว ยังมีความผิด ป.พ.พ. มาตรา 583 ว่าด้วย “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี
กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”
ดังนั้นหากใครที่คิดจะโพสต์ระบายความในใจ เพื่อด่าเจ้านายหรือบริษัทลงในอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะผ่านช่องทางใด ๆ ก็ตาม ควรแวะหยุดคิดพิจารณาถึงผลที่ตามมาสักนิด จะดีที่สุดนะ.