ประวัติ ‘พิธีนวราตรี’ เทศกาลแห่งการฉลองบูชาพระแม่อุมาเทวี
ประวัติ พิธีนวราตรี งานเทศกาลเฉลิมฉลองบูชาองค์พระแม่อุมาเทวี เทพีแห่งอำนาจและการเอาชนะอุปสรรค สายมูห้ามพลาด จัดที่วัดแขก สีลม ตั้งแต่ 25 ก.ย. – 7 ต.ค. 65 นี้
อีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวฮินดูช่วงฤดูใบไม้ร่วงคือ “พิธีนวราตรี” หรือ “งานแห่พระแม่อุมาเทวี 2565” ที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระแม่อุมาเทวี ชายาของพระศิวะ เทพีแห่งความสำเร็จและอำนาจวาสนา ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 1-9 ค่ำ เดือน 11 ในทุก ๆ ปี โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 25 ก.ย. – 7 ต.ค. 65 สำหรับในประเทศไทยจะจัดงานนวราตรีที่วัดแขก สีลม หรือ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
ประวัติ ‘พิธีนวราตรี’ หรืองานแห่เฉลิมฉลองพระแม่อุมาเทวีปราบอสูรชนะ
เทศกาลนวราตรี หรือ พิธีนวราตรี คือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อบูชาองค์พระแม่อุมาเทวี เนื่องในโอกาสที่พระองค์สามารถปราบอสูรควายที่ชื่อว่า “มหิษาสูร” ได้สำเร็จ โดยในเทศกาลนี้จะจัดขึ้นเป็นเวลาทั้งหมด 9 คืน (นว- แปลว่า เก้า) แต่ในวันที่ 10 จะถูกเรียกว่า “วันวิชยาทศมี” ซึ่งเป็นวันฉลองการปราบอสูรของพระแม่อุมา
สำหรับเรื่องราวก่อนที่จะมีพิธีแห่พระแม่อุมาเทวีเกิดขึ้น ตามตำนานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเล่าไว้ว่า มีอสูรตัวหนึ่งชื่อว่า มหิษาสูร ได้รับพรจากพระพรหมว่าไม่ให้มีใครหน้าไหนสามารถสังหารตนเองได้ และเมื่อไม่มีใครสามารถปราบมหิษาสูรได้ จึงทำให้อสูรตนนี้สร้างความวุ่นวายไปทั่วจักรวาล
เหล่าทวยเทพทนต่อความดุร้ายของมหิษาสูรไม่ไหว จึงต้องอัญเชิญพระแม่อุมาเทวีมาปราบ ซึ่งพระแม่อุมาเทวีก็ใช้ร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา” ซึ่งเป็นร่างอวตารของพระแม่อุมาที่มีไว้สำหรับปราบอสูรโดยเฉพาะ เนื่องจากมีพละกำลังมาก และเก่งในการสู้รบ
พระแม่ทุรคา ร่างอวตารของพระแม่อุมา ทำการสู้รบกับมหิษาสูรตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน และสามารถสังหารมหิษาสูร หรืออสูรควายได้สำเร็จในวันที่ 10 จึงทำให้เหล่าทวยเทพและมนุษย์ร่วมกันจัดพิธีขึ้นเพื่อบูชาองค์พระแม่อุมาเทวีสำหรับชัยชนะในครั้งนี้ และกลายมาเป็นเทศกาลนวราตรีฉลองการสู้รบขององค์พระแม่อุมาสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน
ในการจัดพิธีนวราตรีโดยทั่วไปของชาวฮินดู จะเป็นการบูชาองค์พระแม่อุมาเทวีทั้ง 9 ปาง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า การบูชาพระแม่อุมาเทวีในช่วงนวราตรีจะทำให้พรที่ขอประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่พระแม่อุมาเทวีลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพรให้เหล่าสาวกด้วยจิตใจที่เมตตาเป็นพิเศษ
การจัดขบวนแห่พระแม่อุมาเทวีในเทศกาลนวราตรีของประเทศไทย
การจัดขบวนแห่บูชาพระแม่อุมาเทวีของชาวฮินดูในประเทศไทยนั้นจะมีความแตกต่างจากที่อื่นเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติจะเป็นการแห่พระแม่อุมา 9 ปาง แต่ในประเทศไทยจะเป็นการจัดขบวนแห่บูชาเทพฮินดู 8 ขบวน ดังนี้
1. ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
2. ขบวนคนทรงองค์พระขันทกุมาร
3. ขบวนคนทรงองค์พระแม่กาลี
4. ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร
5. ขบวนราชรถองค์พระขันทกุมาร
6. ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะ
7. ขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน
8. ขบวนราชรถองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี
และก่อนที่จะเริ่มขบวนแห่ ก็จะมีพิธีทุบมะพร้าวเพื่อบูชาองค์พระแม่อุมาก่อน เป็นการแสดงออกว่าผู้ศรัทธานั้นได้ละทิ้งอัตตาของตัวเองเพื่อถวายแด่เทพเจ้าแล้ว อีกทั้งมะพร้าวยังเป็นผลไม้แห่งความบริสุทธิ์ในความเชื่อของชาวฮินดูอีกด้วย เนื่องจากน้ำมะพร้าวนั้นถูกกักเก็บในผลไม่เจอกับสิ่งเจือปนด้านนอก
วิธีบูชาพระแม่อุมาเทวี พร้อมบทสวดขอพร ในพิธีนวราตรี
สำหรับผู้ที่ศรัทธาองค์พระแม่อุมาเทวีท่านไหน ที่กำลังเตรียมตัวจะไปสักการะขอพรองค์เทวีกันในช่วงนวราตรีนี้ ก็ขอแนะนำให้แต่งกายด้วยชุดสีขาว หรือนุ่งห่มส่าหรีแบบชาวอินเดีย เพื่อเป็นการให้ความเคารพและแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระแม่อุมาเทวี
สำหรับวิธีบูชา ให้เตรียมดอกไม้สีเหลืองและสีแดงไว้สำหรับตั้งโต๊ะบูชาองค์เทวี ที่ทางวัดแขกจะจัดขบวนอัญเชิญองค์พระแม่อุมาให้เหล่าผู้ที่ศรัทธาได้กราบไหว้ขอพร ทั้งนี้การใช้ดอกไม้สีแดงและสีเหลืองนั้นก็จะช่วยให้การขอพรมีโอกาสสำเร็จมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นสีที่พระแม่อุมาชื่นชอบ
และก่อนที่จะทำการขอพรพระแม่อุมาเทวี ก็ต้องทำจิตใจให้สงบ พร้อมกล่าวบทสวดเพื่อบูชาองค์พระเทวี ดังนี้
โอม โรคา นะเศษา นะปะหัมสิตุษฎา
รุษตาตุกามาน สะกะลา นะภีษะตาน
ตะวามา ศะริตานาม นะวิปัน นะรานาม
ตะวามา ศะริตายา ศะระยะตาม ประยันติ
หลังจากสวดคาถาบูชาพระแม่อุมาเทวีเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยอธิษฐานจิตในสิ่งที่ต้องการ นอกจากนี้หากผู้ขอพรต้องการให้พรนั้นประสบความสำเร็จโดยเร็ว อาจทำการบูชาองค์พระแม่อุมาเทวีด้วยการรับประทานอาหารมังสวิรัติตลอดทั้งช่วงเทศกาลนวราตรี 9 วัน 9 คืน ก็จะยิ่งทำให้สมปรารถนาได้ง่ายขึ้น
และสำหรับใครที่สนใจจะเดินทางไปร่วมประกอบพิธีกรรมบูชาพระแม่อุมาเทวีที่วัดแขกตั้งแต่วันแรก (วันที่ 25 กันยายน 2565) ก็สามารถติดตามรายละเอียดการจัดพิธีบูชาในแต่ละวันผ่าน กำหนดการพิธีนวราตรี 2565 วัดแขก
เพราะในช่วงเทศกาลนวราตรี ทางวัดพระศรีมหาอุมาเทวีไม่ได้เปิดให้บูชาพระอุมาเพียงองค์เดียวเท่านั้น แต่ยังมีการจัดพิธีบูชาเทพองค์อื่น ๆ อีกด้วย ใครที่มีใจศรัทธาก็สามารถเดินทางไปร่วมงานกันได้ตลอดช่วงการจัดพิธีนวราตรีปี 2565