พาไปรู้จัก ประวัติ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ นามปากกาของสองนักวาดการ์ตูนชื่อดัง โดราเอมอน พร้อมย้อนผลงานเด่นของผู้สร้างโดราเอมอนมีอะไรบ้าง
เปิดที่มาประวัติของ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ สองศิลปินผู้แต่งโดราเอมอนจนกลายเป็นการ์ตูนยอดฮิต ขวัญใจของเด็ก ๆ ทั่วโลก เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของเจ้าหุ่นยนต์แมวสีฟ้าโดราเอมอน วันที่ 3 กันยายน ทีมงานเดอะไทยเกอร์จึงขอเสิร์ฟประวัติของนักเขียน พร้อมส่องผลงานจากปลายปากกาฟูจิโกะ ฟูจิโอะกัน ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลย
ประวัติ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ นามปากกาสองผู้สร้างโดราเอมอน
ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ คือนามปากกาของสองนักเขียนการ์ตูน ได้แก่ ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ (Fujimoto Hiroshi) และ อาบิโกะ โมโตโอะ (Abiko Motoo) ผู้แต่งการ์ตูนโดราเอมอน
ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2476 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2539 ด้วยอายุ 62 ปี โดยอาจารย์ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิเสียชีวิตเพราะอาการเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งตับ
โมโตโอะ อาบิโกะ เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2477 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 สาเหตุการเสียชีวิตคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นโรคชรา
อาจารย์ทั้งสองท่านได้ร่วมสร้างผลงานอันโด่งดังมากมายจากนามปากกา ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ซึ่งการ์ตูนโดราเอมอนก็เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของฟูจิโกะ ฟูจิโอะ
กระทั่งมีการแยกตัวเกิดขึ้นระหว่างอาจารย์ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ และอาจารย์อาบิโกะ โมโตโอะ แต่ทั้งคู่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของชื่อนามปากกาไว้เช่นเดิม โดยอาจารย์ฮิโรชิใช้นามปากกาใหม่คือ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (Fujiko F. Fujio) และยังคงแต่งโดราเอมอนต่อไป ส่วนอาจารย์อาบิโกะใช้นามปากกาใหม่คือ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (เอ.) หรือ Fujiko Fujio A
จุดเริ่มต้นของนามปากกา ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ
ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ และโมโตโอะ อาบิโกะ เกิดที่จังหวัดโทยามะ ประเทศญี่ปุ่น โดยอาจารย์ทั้งสองท่านชื่นชอบการเขียนการ์ตูนตั้งแต่สมัยเรียนประถมศึกษา โดยมีแรงบันดาลมาจากหนังสือการ์ตูนเรื่อง เกาะมหาสมบัติ ภาคใหม่ (Shin Takarajima) ผลงานของเทซูกะ โอซามุ (Osamu Tezuka)
ทำให้ฮิโรชิและโมโตโอะร่วมมือกันสร้างผลงานการ์ตูนตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งได้เปิดตัวในนิตยสาร ไมนิจิ โชกักเซ (Mainichi-shougakusei) ด้วยการ์ตูนเรื่อง นางฟ้าทามะจัง (Tenshi no Tama-chan)
ต่อมาเมื่ออาจารย์ฮิโรช ฟูจิโมโตะได้ล้มป่วยจากการเป็นวัณโรคทำให้ต้องออกจากงานประจำมาเป็นนักวาดการ์ตูนอย่างจริงจัง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือหลายอย่างจากอาจารย์โมโตโอะ อาบิโกะ ทั้งคู่จึงได้ก่อตั้งชมรมการ์ตูนยุคใหม่ขึ้นมา และนามปากกา ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในตอนนั้น
ย้อนผลงาน ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ
หลังจากที่เจ้าของนามปากกาฟูจิโกะ ฟูจิโอะได้ลาพักร้อนเป็นเวลานานในช่วงปี 2498 – 2499 ทั้งคู่ก็ได้กลับมาเปิดบริษัท สตูดิโอ ซีโร (Studio Zero) ขึ้นร่วมกับทีมงานในบ้านการ์ตูนที่เคยเช่าอาศัยอยู่เมื่อก่อน ซึ่งมีผลงานสร้างการ์ตูนที่โด่งดัง เช่น เจ้าหนูอะตอม (Astro Boy) เป็นต้น
กระทั่งปี 2507 ฟูจิโกะ ฟูจิโอะก็ได้สร้างผลงานการ์ตูนชื่อดังเรื่องแรก คือ ผีน้อยคิวทาโร่ (Qtaro the Ghost) ได้ตีพิมพ์ลงบนนิตยสารการ์ตูนโชเน็นซันเดย์ การ์ตูนผีน้อยคิวทาโร่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กกัน ส่งผลให้ผีน้อยคิวทาโร่ได้รับการผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชันที่จัดฉายบนโทรทัศน์
ฟูจิโกะ ฟูจิโอะจึงได้มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงสตูดิโอซีโรก็เติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็มีผลงานชื่อดังอีกหลายเรื่อง เช่น ไคบุซึ (Kaibutsu-kun), นินจาฮัตโตริ (Hattori the Ninja), ปาร์แมน (Paman) เป็นต้น
เมื่อปี 2513 หนังสือการ์ตูนโดราเอมอนก็ได้ถูกตีพิมพ์ลงบนโชกากุอิจิเน็นเซ-โยเน็นเซ มีเด็กเป็นกลุ่มผู้อ่านหลัก ถึงแม้ว่าโดราเอมอนจะไม่ได้รับความนิยมในตอนแรกมากนัก แต่เมื่อโดราเอมอนได้ถูกผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชันใน 3 ปีต่อมา โดยออกฉายบนโทรทัศน์ ทำให้โดราเอมอนกลายเป็นการ์ตูนยอดฮิตที่เด็กทั่วประเทศญี่ปุ่นต่างประทับใจ
การสานต่อเรื่องราวของโดราเอมอนของฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ
หลังจากอาจารย์นักวาดการ์ตูนทั้งสอง ได้แก่ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ และโมโตโอะ อาบิโกะได้แยกทางกันไปเดินตามความฝันของตนเอง อาจารย์ฮิโรชิก็ได้ตั้งนามปากกาใหม่ว่า ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ซึ่งฮิโรชก็ยังคงเขียนการ์ตูน โดราเอมอนเรื่อยมาอย่างไม่หยุดพัก
ทั้งนี้อาจารย์ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ หรือฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ยังป็นผู้วาดการ์ตูนและแต่งเนื้อเรื่องในโดราเอมอน เดอะมูฟวี่ในทุก ๆ ปี จนกระทั่งอาจารย์ฮิโรชิเสียชีวิตในวัย 62 ปี
นอกจากนี้ โดราเอมอนเดอะมูฟวี่ ตอนสงครามอวกาศจิ๋วของโนบิตะ (Doreamon: Nobita’s Little Star Wars) ที่นำกลับมาผลิตซ้ำจากผลงานของผู้แต่งโดราเอมอน ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ซึ่งจะเข้าฉายในประเทศไทย วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่โรงภาพยนตร์ทั่วไทย
หากผู้อ่านชื่นชอบประวัติของฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ก็อย่าลืมว่าวันที่ 3 กันยายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของโดราเอมอนด้วยนะครับ รีบไปฉลองวันเกิดให้เจ้าแมวหุ่นยนต์สีฟ้าโดราเอมอน ขวัญใจเด็กทั่วทุกมุมโลกด้วยกันนะครับ.
อ้างอิง : 1