รู้จัก ‘แชร์ลูกโซ่’ คืออะไร รู้ทันภัยร้ายมุกเก่า ก่อนสูญเงินมหาศาล
เปิดที่มา แชร์ลูกโซ่ คือกลโกงมุกเก่าที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เผยไต๋ทริคโกงพร้อมสาเหตุที่ใคร ๆ ก็ถูกหลอก
จากกรณีข่าวดาราสาวพิ้งกี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี Forex 3D ซึ่งเป็นหนึ่งในแชร์ลูกโซ่หลอกคนนำเงินมาลงทุนนั้น ทำให้หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยว่าแชร์ลูกโซ่จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ แชร์ลูกโซ่ คือกลโกงรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้การแอบอ้างธุรกิจถูกกฎหมายมาบังหน้า หลอกหลวงเหยื่อด้วยการให้ลงทุนน้อยและให้ค่าตอบแทนสูง
เผยไต๋ แชร์ลูกโซ่ ก่อนตกเป็นเหยื่อ ทริคหลอกคนด้วยการลงทุนน้อยแต่กำไรมาก
หากใครเคยถูกชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจด้วยมูลค่าเงินน้อย ๆ แต่ได้ผลกำไรหรือผลตอบแทนมหาศาล ที่มาพร้อมกับแผนการลงทุนอลังการน่าเชื่อถือ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวข้องด้วย ก็ขอให้ระวังตัวไว้เลยว่า คุณอาจจะกำลังตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ได้
ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกมาให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่แก่ประชาชน เพื่อไม่ให้ใครหลาย ๆ คนต้องตกเป็นเหยื่อกลโกงประเภทนี้ โดยทางคณะกรรมการฯ ก็ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ไว้ ดังนี้
1. แชร์ลูกโซ่มักจะเสนอแผนการลงทุนกับหน่วยงานใหญ่ ๆ
พื้นฐานการลงอย่างหนึ่งก็คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งแชร์ลูกโซ่จะใช้เทคนิคการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการอ้างชื่อว่ามีการลงทุนในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการอ้างชื่อผู้สนับสนุนที่มีหน้ามีตาในสังคมด้วย ทำให้เหยื่อหลงเชื่อว่าโครงหารเหล่านั้นมีตัวตนอยู่จริง และร่วมนำเงินไปลงทุน
2. แชร์ลูกโซ่มักจะอ้างเงินลงทุนต่ำที่ให้ค่าตอบแทนสูง
การชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการแชร์ลูกโซ่ มักแอบแฝงมาด้วยการให้เหยื่อลงทุนในธุรกิจที่น่าเชื่อถือ โดยอาจจะให้ลงทุนด้วยจำนวนเงินมหาศาลแต่ผลตอบแทนก็มหาศาลด้วยเช่นกัน หรืออีกรูปแบบหนึ่งก็คือให้ลงทุนน้อย แต่ผลตอบแทนสูง แต่จะหลอกล่อเหยื่อให้คอยลงทุนเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะมีสินค้ามาบังหน้าแต่ไม่ได้มีการขายจริง ๆ
3. แชร์ลูกโซ่มักจะนำเสนอธุรกิจที่ทำความเข้าใจยาก
อีกหนึ่งทริคของกลโกงแชร์ลูกโซ่ก็คือการชักชวนเหยื่อให้ลงทุนในธุรกิจที่ค่อนข้างเข้าใจยาก โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (การเทรดเงินต่างประเทศ) โดยจะมีการอ้างอิงราคาซื้อขายที่มีสกุลเงินจากต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้เหยื่อเกิดความเชื่อถือ และด้วยความเข้าใจที่ไม่ถ่องแท้ก็อาจจะทำให้เหยื่อตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ แชร์ลูกโซ่ถือเป็นกลโกงหนึ่งที่มีความผิดต้องโทษตามกฎหมาย เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค เข้าข่ายความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นหากท่านไหนถูกชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ก็ขอให้ศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงของการลงทุนเหล่านั้นให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลโกงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ และต้องเสียทรัพย์สินมหาศาลอย่างที่เป็นข่าวมาตลอด.