Drama Addict เตือน ผปค. ใช้ ฟิลเตอร์ผีหลอก ปลูกฝังความกลัวให้เด็ก
Drama Addict โพสต์ข้อความเตือนผู้ปกครองที่ชอบใช้ ฟิลเตอร์ผีหลอก แกล้งลูกว่าเป็นการปลูกฝังความกลัวโดยไร้เหตุผลให้เด็ก
เพจ Drama Addict โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กฝากเตือนพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองที่ชอบใช้ฟิลเตอร์ผีหลอกใน TikTok ที่มักจะใช้กับเด็กเล็กและกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ว่า เป็นปลูกฝังความกลัวโดยไร้เหตุผล
ทางเพจระบุว่า “ฟิลเตอร์ผีหลอกที่นิยมกันใน tiktok ตัวนี้ในบ้านเราจะฮิตใช้ถ่ายคลิปกับเด็กเล็ก โดยให้เด็กดูหน้าจอ แล้วพอฟิลเตอร์ทำงาน ผู้ใหญ่จะวิ่งหนีออกจากห้อง ทิ้งเด็กไว้ในห้อง แล้วภาพก็จะมืดลง และมีผีตัวนี้โผล่ออกมา บางคลิปเด็กกลัวจนร้องไห้เลย
บ้านไหนทำงั้นกับเด็กๆ ขอให้ระวัง “การปลูกฝังความกลัวโดยไร้เหตุผล” ซึ่งแลกมาด้วยพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กที่ถดถอย อย่าเห็นแก่การทำคอนเท้นท์ลงโซเชี่ยล โดยเอาเด็กมาเสี่ยงแบบนั้นครับ
https://www.babybbb.com/article_detail.php?nid=530
แต่สิ่งหนึ่งที่ฝังลงไปในความรู้สึกของลูก คือ ‘ความรู้สึกกลัวอย่างไร้เหตุผล’ ในขณะที่ เหตุผล คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องปลูกฝังลูกตั้งแต่วัยนี้ด้วยเช่นกันเพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลและมีสมดุลทางอารมณ์ ดังที่ ศ. เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา ได้เคยบอกไว้ว่า
“ในบรรดาความรู้สึกต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของเด็กคือความกลัว (FEAR) ซึ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในจิตใจ ว้าวุ่น หวาดกลัว ไม่มั่นใจในตัวเอง และพาลเป็นผลเสียต่อสุขภาพ จึงต้องพยายามเลี้ยงลูกอย่าให้เป็นคนขลาด กลัวอะไรโดยไม่มีเหตุผล”
ดังนั้นการหลอกให้ลูกกลัวอย่างไร้เหตุผล หรือกลัวในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องกลัว จึงเป็นเสมือนการตอกย้ำให้พัฒนาการทางด้านอารมณ์จิตใจของลูกย่ำอยู่กับที่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนต้องการให้เป็นเช่นนั้น
ผลจากการถูกหลอกให้กลัว…อย่างไร้เหตุผล
แน่นอนว่า ความกลัวอย่างไร้เหตุผล ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจของลูกโดยตรง โดยเฉพาะลูกวัยที่จินตนาการกำลังเบ่งบาน ทำให้เมื่อไรที่เขารู้สึกกลัว ความกลัวนั้นจะฝังแน่นในความรู้สึกมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า และด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ ทำให้การใช้เหตุผลของลูกยังไม่ดีพอ โอกาสที่ดีกรีความกลัวจะพลุ่งพล่านจึงมีมากขึ้น
หากเราหลอกให้ลูกกลัวอย่างไร้เหตุผล ความกลัวนี้จะติดไปจนกระทั่งเขาโต และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่กลัวในสิ่งที่ไม่น่าจะกลัว เช่นเดียวกับที่ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“เป็นการสร้างนิสัยให้เด็กขาดการใช้ความคิดไตร่ตรอง ใคร่ครวญหาความจริงด้วยเหตุผล ทำให้เสียบุคลิกภาพ ยิ่งไปกว่านั้น หากลูกมีความกลัวอย่างรุนแรง เมื่อต้องอยู่ในภาวะเช่นนั้นนาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการทางประสาทได้ เช่น เด็กที่กลัวความมืด
หากให้อยู่ในห้องมืดคนเดียว จะเกิดความเครียด นอนไม่หลับในเวลากลางคืน หัวใจจะเต้นเร็ว ในสมองจะจินตนาการไปต่าง ๆ นานา และสามารถหวีดร้องได้เมื่อใบไม้ใบหนึ่งปลิวมาปะทะหน้าต่าง ทั้ง ๆ ที่ในความมืดนั้นไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ดังนั้น การช่วยให้เด็กเลิกกลัวอย่างไม่มีเหตุผลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะช่วยพัฒนาการใช้เหตุผลของเด็ก ให้รู้จักคิดใคร่ครวญ พิสูจน์ความจริงก่อนตอบสนอง เมื่อเติบโตขึ้นก็จะเป็นคนที่มีเหตุผล ไม่กลัวสิ่งใดง่าย ๆ ทั้งเป็นการช่วยทำให้เด็กไม่หลงเชื่อสิ่งใดอย่างง่าย ๆ เพียงเพราะรู้สึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผล”
หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไปชาวเน็ตก็เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองที่ถ่ายคลิปเด็กพร้อมแกล้งเด็กด้วย ฟิลเตอร์ผีหลอก ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม