สธ. เผย ต้นเหตุฝีดาษลิงรายที่ 2 อาจออกไทยไปแล้ว
กระทรวงสาธารณสุข แจ้งความคืบหน้าปมฝีดาษลิงเผย ชาวเบลเยียม ต้นเหตุฝีดาษลิงรายที่ 2 อาจออกไทยไปแล้ว ขณะนี้ไม่พบผู้ป่วยใหม่
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงถึงกรณีผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ที่จากการตรวจสอบสวนโรค พบว่ามีประวัติการมีเพศสัมพันธ์กับหนุ่มเบลเยียมที่คาดว่าเป็นต้นเหตุฝีดาษลิงรายที่ 2 นั้น
ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ คาดว่าชาวเบลเยียมคนดังกล่าว อาจหนีออกนอกประเทศไปแล้ว และกำลังตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความแน่ชัดต่อไป
ส่วนผลตรวจผู้ใกล้ชิดและผู้ร่วมบ้านทั้ง 18 คน ผลตรวจเป็นลบ อย่างไรก็ดี ผู้สัมผัสใกล้ชิด จะอยู่ในระบบคุมไว้สังเกตอาการจนครบ 21 วันต่อไป
นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังได้พูดย้อนกลับไปถึงผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกที่เป็นคนไนจีเรียว่า ปัจจุบันผู้ป่วยคนดังกล่าวหายดีแล้ว และจากการ ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและค้นหาเชิงรุกในพื้นที่จ.ภูเก็ต จำนวน 50 กว่ารายไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ โดยมีระบบเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ คือ การสัมผัสอย่างใกล้ชิดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
สำหรับโรคฝีดาษลิง โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยโรงฝีดาษลิง จะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง อาทิ มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว, เจ็บคอ, บวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย. บางรายอาจพ่วงอาการง่วงซึม แต่เมื่อไข้ทุเลาลง อาจเกิดผื่นขึ้น มักจะเริ่มจากบนใบหน้าก่อน จากนั้นจะลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย.
ผื่นส่วนใหญ่ จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า อาจมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้น ก่อนที่ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ซึ่งในระยะสุดท้ายตุ่มหนอง จะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา เหตุนี้เองโรคฝีดาษลิงอาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา โดยปกติแล้วอาการป่วย จะอยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ และสามารถหายเองได้
- สธ. เร่งตามตัว หนุ่มยุโรป คาด สาเหตุผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ในไทย
- ‘หมอธีระ’ เผย ภาพไวรัสฝีดาษลิง ที่มาจากการสวอปผ้าเช็ดตัว
- เช็คลิสต์ “อาการโรคฝีดาษลิง” เป็นอย่างไร ติดต่อทางไหน หลังพบในไทยแล้ว