ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

4 สิงหาคม ‘วันสัตวแพทย์ไทย’ จากโรงเรียนทหาร สู่ ต้นกำเนิดวิชาชีพสัตวแพทย์

ชวนให้รู้ วันสัตวแพทย์ไทย 4 สิงหาคม 2565 เกี่ยวกับอะไร ทำไมจึงเกิดเป็นวันสำคัญ และต้นกำเนิดการศึกษาวิชาสัตวแพทย์ในไทย มีความเป็นมาอย่างไร

วันสัตวแพทย์ไทย ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของวิชาชีพสัตวแพทย์ เพราะสัตวแพทย์ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน จัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถรักษาและดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงสัตว์เศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ปลอดภัยและปลอดจากโรคได้อย่างถูกต้อง

4 สิงหาคม วันสัตวแพทย์ไทย รู้จักที่มาและบทบาท ของสัตวแพทย์ในประเทศไทย

ทำไมสัตวแพทย์ถึงมีความสำคัญ มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรงเรียนทหาร วันนี้ The Thaiger ขอชวนให้รู้จักวิชาชีพและบทบาทของสัตวแพทย์ให้มากขึ้น

วันสัตวแพทย์ไทย
ภาพจาก : เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มาของวันสัตวแพทย์ไทย

วันสัตวแพทย์ไทย ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าของสัตวแพทย์ไทย โดยกำหนดให้เป็นวันที่ 24 สิงหาคม ของทุกปี มีสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลักในประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทบาทของสัตวแพทย์ต่อสาธารณชน

ต้นกำเนิดการศึกษาวิชาสัตวแพทย์ในประเทศไทย

ก่อนที่ วันสัตวแพทย์ไทย จะถูกจัดตั้งขึ้นเป็นวันสำคัญนั้น รู้หรือไม่ว่า การศึกษาวิชาชีพสัตวแพทย์ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อ 110 ปีก่อนในปี 2455 ดดยมีต้นกำเนิดจาก พล.ต. ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ถือเป็นบิดาแห่งการศึกษาสัตวแพทย์ไทย ท่านทรงตั้งโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบกขึ้น ก่อนจะพัฒนาเป็นโรงเรียนนายสิบสัตวแพทย์ และต่อมากลายเป็นโรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการศึกษาวิชาสัตวแพทย์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

หลังจากนั้น ในปี 2478 ได้พัฒนาและจัดตั้งแผนกอิสระสัตวแพทย์ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ในสถานศึกษาพลเรือนเพื่อผลิตสัตวแพทย์ในระดับปริญญาเป็นครั้งแรก และพัฒนาเป็นคณะสัตวแพทย์ โดยมี ศาสตราจารย์พันโท หลวงชัยอัศวรักษ์ เป็นคณบดี

วันสัตวแพทย์ไทย
ภาพจาก : เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาในปี 2497 รัฐบาลได้โอนย้ายคณะสัตวแพทย์ ให้มาสังกัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนโยบายการพัฒนาประเทศในยุคนั้น ดดยให้มีการเรียนการสอนที่เกษตรศาสตร์ บางเขน 2 ปี จากนั้นให้ไปเรียนที่ถนนอังรีดูนังต์อีก 4 ปี และได้ถูกโยกย้ายอีกครั้งในปี 2510 โดยย้ายกิจการคณะไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจัดตั้งเป็นคณะสัตวแพทย์จนถึงปัจจุบัน

แต่ยังมีอาจารย์และนิสิตบางส่วนอยู่พัฒนาคณะสัตวแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อไป โดยได้เชิญอธิบดีกรมปศุสัตว์ในสมัยนั้นอย่าง ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม ขึ้นเป็นคณบดี และท่านถือเป็นบิดาของคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกด้วย

วันสัตวแพทย์ไทย
ภาพจาก : เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในประเทศไทยนั้น มีการใช้คำว่า สัตวแพทย์ สำหรับสื่อความหมายได้ 2 กรณี คือ สัตวแพทย์ (Paravet) และ นายสัตวแพทย์ (Veterinarian) โดย นายสัตวแพทย์ หมายถึง บุคคลที่เรียนจบสัตวแพทย์ระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับใบปริญญาสัตวแพทยศาสตร์และใบรับรองประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง

ในขณะที่ สัตวแพทย์ จะหมายถึง บุคคลที่เรียนจบจากโรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรและใบรับรองประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ชั้นสอง

โดยในปัจจุบันโรงสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ได้ถูกยุบและถูกย้ายเป็น คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ (4ปี) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันสัตวแพทย์ไทย

บทบาทและหน้าที่ของสัตวแพทย์

สัตวแพทย์ เป็นอาชีพที่ประชาชนนั้นต้องพึ่งพาเป็นอย่างมาก กล่าวได้ว่าเทียบเท่ากับแพทย์ที่รักษาคนเลยก็ว่าได้ ไม่เพียงสำคัญเฉพาะกับคนเมืองที่เลี้ยงสัตว์ขนปุยอย่าง สุนัข แมว หรือกระต่าย แต่ยังสำคัญต่อการปศุสัตว์ รวมไปถึงสัตว์ป่า ที่ต้องควบคุมดูแลรักษาต่าง ๆ เช่น หมู วัว ไก่ หรือสัตว์ป่าอย่าง เสือ ช้าง เป็นต้น

ซึ่งหากสัตว์เศรษฐกิจเหล่านี้ติดเชื้อโรคร้ายที่สามารถติดต่อสู่กันได้ ก็จะส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนผู้บริโภคสัตว์เหล่านี้ ในสัตว์ป่าก็เช่นเดียว การคอยควบคุมและอนุรักษ์ที่ถูกต้อง จะก่อประโยชน์ให้ระบบนิเวศในประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันสัตวแพทย์

วันสัตวแพทย์ไทย ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าของสัตวแพทย์ไทย โดยกำหนดให้เป็นวันที่ 24 สิงหาคม ของทุกปี มีสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลักในประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทบาทของสัตวแพทย์ต่อสาธารณชน

อ้างอิงจาก : 1,2

mintzz

นักเขียน นักเล่าสารพัดเรื่อง เปิดกว้างในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ โดยหวังให้ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และความบันเทิงควบคู่กัน เพราะไม่ว่าข่าวสารประเภทไหนก็สามารถเขียนและเล่าให้สนุกได้!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button