ระลึก 60 ปี ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ 29 ก.ค. พร้อมประวัติน่ารู้
วันภาษาไทยแห่งชาติ ครบรอบ 60 ปี เนื่องในวาระพิเศษเพื่อระลึกเหตุการณ์เมื่อครั้งน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วันภาษาไทยแห่งชาติ ในปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษยิ่งกว่าทุก ๆ ปี เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี จากการน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งที่ท่านทรงดำเนินไปอภิปรายเรื่องการใช้ภาษาไทย ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2505
- 29 ก.ค. วันภาษาไทยแห่งชาติ ระลึกถึงคุณูปการของในหลวง ร.9
- วธ. เปิดเว็บ ‘วันภาษาไทย’ pasathai.net เรียนรู้ภาษาไทยแบบออนไลน์
- วธ.จัดวันภาษาไทยแห่งชาติ หมอทวีศิลป์ ได้รางวัล ผู้ใช้ภาษาไทยสร้างสรรค์ดีเด่น
ประวัติ และความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. 65
นับตั้งแต่ครั้งที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ซึ่งดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ประกอบกันขึ้นเพื่อใช้แทนเป็นเสียงต่าง ๆ ถูกประยุกต์และพัฒนาจนกลายเป็นอักษรไทยแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน สะท้อนความภูมิใจที่ที่คนไทยมีภาษาเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
วันภาษาไทยแห่งชาติถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 ด้วยมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของนายชวน หลีกภัย โดยกำหนดให้เป็นวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี วันภาษาไทยแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ระลึกถึงความสำคัญ และปลูกจิตสำนึกที่ดีต่อภาษาไทย
และเพื่อน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งที่ดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 อีกทั้งยังเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ ที่ท่านได้ทรงพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทย
วันภาษาไทยแห่งชาติยังมีความสำคัญในแง่การยกระดับการศึกษาด้านภาษาไทย โดยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นให้ดีขึ้นอยู่เสมอ และยังช่วยส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาประจำชาติในทุก ๆ ปีให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2565
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมได้ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 ขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ไว้ดังนี้
- การประกวดเพลงแร็ป ในหัวข้อ ‘รักนะจ๊ะ ภาษาไทย ‘ , การประกวดเพลงฉ่อยดพลงพื้นบ้าน, การประกวด ‘เพชรในเพลง’
- กิจกรรมสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ สวดโอ้เอ้วิหาราย สวดมหาชาติคำหลวง
- ประกวดบรรยายธรรมของเยาวชน
- พิธีมอบโล่เกียรติยศและโล่รางวัลแก่หน่วยงานและผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทย และผู้ชนะรางวัลการประกวดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน
- กิจกรรมแข่งขันทักษะภาษาไทย เช่น แต่งกลอน คัดลายมือ ประกวดหนังสือทำมือ เป็นต้น
- นิทรรศการแสดงผลงานของผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทยและเพชรในเพลง
ทีมงาน The Thaiger ที่ใช้ภาษาไทยกันอย่างคุ้มค่าในทุก ๆ วันเพื่อเขียนข่าวสารและเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้เข้าถึง รู้สึกปราบปลื้มใจกับวันสำคัญแห่งชาตินี้มาก ๆ เลยค่ะ