เพจดังเตือน น้ำปลาร้าดื่มไม่ได้ เสี่ยงภาวะโซเดียมสูง หลังดาว TikTok ใส่แก้วยกซด
เพจดังเตือน น้ำปลาร้าเป็นเครื่องปรุงไม่ใช่เครื่องดื่ม หากได้รับในปริมาณมากร่างกายอาจเกิดภาวะโซเดียมสูง หลังเจอ ดาว TikTok ดื่มน้ำปลาร้า
กลายเป็นกระแสไวรัลที่ถูกชาวเน็ตวิจารณ์กันมากมาย หลังผู้ใช้บัญชี TikTok รายหนึ่งสร้างคอนเทนต์ขายน้ำปลาร้า แต่ไม่ใช่การขายแบบธรรมดา เพราะผู้ใช้ TikTok รายนี้กลับเทน้ำปลาร้าในแก้วที่มีน้ำแข็ง แล้วยกขึ้นดื่มเหมือนเป็นเครื่องดื่มธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่ามีบางคลิปที่ที่ผู้ใช้ TikTok รายนี้ นำปลาร้าเทใส่ทุเรียนผสมกับนมข้มหวานแล้วใช้หลอดดูดอีกด้วย ยิ่งกว่าเปิปพิสดารเสียอีก
และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ทางเพจดังอย่าง Drama-addict ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนถึงความอันตรายของการดื่มน้ำปลาร้าแบบเพียว ๆ โดยเป็นการให้ข้อมูลทางด้านโภชนาของน้ำปลาร้า พร้อมกับผลเสียหากร่างกายได้รับในปริมาณมาก ความว่า
“มีลูกเพจส่งคลิปที่ยูทูปเบอร์สายกิน เอาน้ำปลาร้ามายกซดเหมือนเครื่องดื่มให้ดูแล้วถามว่าแบบนั้นจะเป็นไรมั้ยเนี่ย ก็เตือนพ่อแม่พี่น้องที่มีลูกหลานชอบดูยูทูปเบอร์สายกินพวกนั้นว่า อย่าทำตาม
อธิบายงี้
1. น้ำปลาร้า = เครื่องปรุงรส ไม่ใช่เครื่องดื่ม ใส่ในอาหารในปริมาณเหมาะสมเพื่อความนัวๆ
2. น้ำปลาร้ามีโซเดียมสูงมาก เท่าที่สำรวจมา น้ำปลาร้า 5 ซีซี มีโซเดียมประมาณ 300-500 mg ปรกติขวดนึงก็มีปริมาณประมาณ 200-300 cc ดังนั้นน้ำปลาร้าขวดนึงนี่ โซเดียมล่อเข้าไปตั้ง 2-3 หมื่นมิลลิกรัมแล้ว
3. ปรกติคนเราไม่ควรได้รับโซเดียมเกินวันละ 2000 mg
สมมุติมีเด็กเลียนแบบ หยิบขวดน้ำปลาร้ามาซดซักครึ่งขวด ก็ได้โซเดียมไป 1-1.5 หมื่นมิลลิกรัม ประมาณ 5-7 เท่าที่ร่างกายควรได้ต่อวัน
ซึ่งจะทำให้ความดันสูง ไตทำงานหนัก อาจถึงขั้นไตวายได้
4.ในกรณีที่เลวร้ายสุด จะเกิดภาวะ โซเดียมในเลือดสูง ซึ่งมีผลกับสมอง ทำให้สมองเสียหายจนเสียชีวิตได้ถ้ารักษาไม่ทัน เหมือนกรณีเคสรับน้อง ที่รุ่นพี่บังคับให้น้องซดน้ำปลาหรือกะปิ หลักการเดียวกัน
ดังนั้นพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆชอบดูพวกนี้ ให้ความรู้ให้ดีๆนะครับ พลาดขึ้นมา ลูกพิการตลอดชีวิตหรือตายได้เลยครับ”
ด้านชาวเน็ตต่างก็พากันเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกันอย่างมากมาย แม้จะมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งกล่าวว่าน้ำปลาร้าในขวดอาจเป็นการใช้โกโก้มาแทนเพื่อที่จะทำคอนเทนต์ขายน้ำปลาร้า แต่อย่างไรก็ตามในคลิปวิดีโอที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นั้นก็ไม่ได้มีการอธิบายหรือขึ้นคำเตือนไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามลอกเลียนแบบ
ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็คงต้องระมัดระวังการเสพสื่อของบุตรหลานให้มากขึ้น เพราะผู้ทำคอนเทนต์บางรายก็สร้างคอนเทนต์มาอย่างไม่รับผิดชอบต่อสังคม ต้องการเรียกกระแสเพียงอย่างเดียว ซึ่งเยาวชนที่ยังขาดวิจารณญาณก็อาจนำไปทำตาม และส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้