The Thaiger ชวนมาดู “วรรคทอง” ยอดฮิตของสุนทรภู่ เนื่องใน “วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2565” ปีนี้ ซึ่งสุนทรภู่นั้นนับว่าเป็นอาจารย์ของคนไทยหลาย ๆ คน เพราะใครที่ได้เรียนภาษาไทย หรือวรรณคดี ก็ย่อมจะต้องเจอคำกลอนจากเรื่องที่สุนทรภู่แต่งอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นวรรคทองที่หลาย ๆ คนย่อมคุ้นตากันเป็นอย่างดี โดยในวันนี้ทาง The Thaiger ก็ได้รวบรวมวรรคทองจากบทประพันธ์ของสุนทรภู่มาให้ทุกคนได้อ่านกัน บอกเลยว่าหลากรสหลายอารมณ์มาก ๆ บางอันก็อาจจะไม่คุ้นตา ถ้าอยากรู้ว่ามีวรรคทองบทไหนบ้าง ก็ตามไปดูกันได้เลย
รวม ‘วรรคทอง‘ จากบทประพันธ์ของ ‘สุนทรภู่‘
วรรคทอง หมายถึง บางช่วงบางตอนของบทประพันธ์ ที่ลึกซึ้งและมีคุณค่า เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่นิยมของคนอ่านโดยทั่วไป และเนื่องด้วยสุนทรภู่ได้ประพันธ์บทกลอนไว้ด้วยกันหลายเรื่อง จึงทำให้มีวรรคทองอยู่ในบทประพันธ์มากมาย ทั้งที่เป็นคติสอนใจ บทที่โดดเด่นด้วยการเล่นคำ บทที่ทำให้ชีวิตของสุนทรภู่พลิกผัน หรือแม้แต่เป็นบทอัศจรรย์ บอกเลยว่าครบทุกรสชาติ
1. วรรคทองจากนิราศภูเขาทอง
ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน
นิราศภูเขาทองได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดของกลอนนิราศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นนิราศชิ้นเอกได้บรรดานิราศทั้งหมดที่สุนทรภู่แต่งขึ้นมาเลยก็ว่าได้ โดยเป็นการบันทึกเส้นทางระหว่างการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองในเขตกรุงเก่า หรือพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นสุนทรภู่แต่งขึ้นขณะที่บวชเป็นพระ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3
2. วรรคทองจากนิราศพระบาท
เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล
นิราศพระบาทนับว่าเป็นนิราศเรื่องที่ 2 ที่สุนทรภู่ได้แต่งขึ้น โดยแต่งเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มและได้ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ในฐานะมหาดเล็ก เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี
3. วรรคทองจากเพลงยาวถวายโอวาท
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้เจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคนคลาย เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
เพลงยาวถวายโอวาทแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งที่ยังบวชอยู่ ณ วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) โดยแต่งขึ้นเพื่อทูลลาและถวายโอวาทแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋วที่เป็นลูกศิษย์ ก่อนจะเดินทางไปพระนครศรีอยุธยาและประพันธ์นิราศภูเขาทอง
4. วรรคทองจากนิราศอิเหนา
จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตาดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ
นิราศอิเหนาของสุนทรภู่ คาดว่าน่าจะประพันธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งที่สุนทรภู่ยังอยู่ในอุปการะของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสองค์ที่ 8 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีเนื้อหามาจากวรรณคดีเรื่องอิเหนา แต่แต่งตามขนบนิราศคือพูดถึงการเดินทางตามหานางบุษบาของอิเหนา
5. วรรคทองจากเรื่องพระอภัยมณี
เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล
วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีเป็นหนึ่งในบทประพันธ์ของสุนทรภู่ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโสรให้เป็นยอดของวรรณคดีประเภทนิทานคำกลอน โดยวรรคทองบทดังกล่าวมาจากตอนศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์ เป็นการสอนเรื่องความรักว่า เมื่อยามที่เรามีรักทุกอย่างก็ดูเป็นเรื่องดีไปเสียหมด แต่เมื่อหมดรักแล้วจะทำอะไรก็เป็นเรื่องไม่ดีทั้งนั้น
6. วรรคทองจากเรื่องพระอภัยมณี
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้า มหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้อยู่ในใต้หล้าสุธาธาร ขอพบพานพิสวาทมิคลาดคลา
วรรคทองบทดังกล่าวมาจากตอนพระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง ซึ่งเป็นตอนที่เล่าถึงการทำศึกระหว่างนางละเวงวัณฬากับพระอภัยมณี โดยพระอภัยมณีได้ใช้ความเจ้าชู้ของตนในการเกี้ยวพาราสีนางละเวง เป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าจะขออยู่เคียงข้างนางตลอดไป
7. วรรคทองจากเรื่องพระอภัยมณี
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
วรรคทองบทดังกล่าวมาจากตอนสุดสาครเข้าเมืองการะเวก เป็นคำกลอนที่ให้คติสนอใจในเรื่องของการไว้ใจผู้อื่น ซึ่งจิตใจคนเรานั้นเปลี่ยนง่าย สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นก็ไม่ควรไว้ใจใครง่าย ๆ
8. วรรคทองจากเรื่องพระอภัยมณี
ในนทีตีคลื่นเสียงครื้นครึก ลั่นพิลึกโลกาโกลาหล
หีบดนตรีปี่พาทย์ระนาดกล ไม่มีคนไขดังเสียงวังเวง
อัศจรรย์ลั่นดังระฆังฆ้อง เสียงกึกก้องเก่งก่างโหง่งหง่างเหง่ง
ปืนประจำกำปั่นก็ลั่นเอง เสียงครื้นเครงครึกโครมโพยมบน
วรรคทองทั้ง 2 บท มาจากตอนพระอภัยมณีผูกคอตายได้นางละเวงอีกเช่นเดียวกัน แต่ความพิเศษของบทที่ยกมานั้นคือ เป็นบทอัศจรรย์ระหว่างพระอภัยมณีกับนางละเวงวัณฬา ซึ่งเป็นบทที่ทำให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างจินตภาพของสุนทรภู่ผ่านความเปรียบ ด้วยการใช้ถ้อยคำที่เรียบง่ายมาร้อยเรียงเป็นคำกลอนแต่เห็นภาพชัดเจน
9. วรรคทองจากโคลงนิราศสุพรรณ
เสียงซออ๋ออ่ออ้อ เอื่อยเพลง
จับปี่เตร๋งเต้งเต๋ง เต่งต้อง
คลุยตรุ๋ยตรุ่ยตรุ้ยเหนง เหน่งเน่ง รนาดแฮ
ฆ้องหน่องหนองน่องหน้อง ผรึ่งพรึ้งพรึ่งตะโภน
โคลงนิราศสุพรรณเป็นผลงานเรื่องแรกและเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งนิราศด้วยฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ คาดว่าน่าจะเป็นการแต่งขึ้นในสมัยที่สุนทรภู่ยังบวชเป็นพระอยู่ที่วัดสระเกศ แล้วได้เดินทางออกตามหายาอายุวัฒนะที่เมืองสุพรรณ แต่สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลวเพราะเรื่องยาอายุวัฒนะเป็นเพียงเรื่องไร้สาระเท่านั้น
10. วรรคทองจากเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว
แม่วันทองของลูกจงกลับบ้าน เขาจะพาลว้าวุ่นแม่ทูนหัว
จะก้มหน้าลาไปมิได้กลัว แม่อย่ามัวหมองนักจงหักใจ
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชนิพนธ์ร่วมกับกวีท่านอื่น ๆ ในราชสำนัก โดยสุนทรภู่นั้นได้รับหน้าที่ในการประพันธ์ตอนกำเนิดพลายงาม โดยเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ก็ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดแห่งกลอนเสภาอีกด้วย
แถมท้ายด้วยบทประพันธ์ที่อาจจะไม่ใช่วรรคทอง แต่เป็นกลอนที่ทำให้สุนทรภู่พ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก มาจากเรื่องสังข์ทอง ซึ่งในขณะนั้นรัชกาลที่ 2 ทรงประพันธ์แล้วเกิดติดขัดในช่วงท้าย จึงเบิกตัวสุนทรภู่มาแต่งต่อให้จบ ความว่า
แสนเอยแสนแขนง น้อยหรือแกล้งตัดพ้อเล่นต่อหน้า
ติเล็กติน้อยคอยนินทา ค่อนว่าพิไรไค้แคะ
พี่ก็ไม่หลีกเลี่ยงเถียงสักสิ่ง มันก็จริงกระนั้นนั่นแหละ
เจ้าเย้ยเยาะว่าเงาะไม่งามแงะ แฮะแฮะว่าเล่นหรือว่าจริง
พร้อมด้วยโคลงสี่สุภาพอีก 1 บท ที่สุนทรภู่แต่งไว้สำหรับด่าลูกศิษย์ที่นินทาว่าตนนั้นแต่งโคลงไม่เก่ง โดยทั้งบทล้วนแล้วแต่เป็นคำผวน ชื่อว่าโคลงสี่สุภาพบริภาษคำผวน ความว่า
เฉน็งไอมาเวิ้งเว่า วู่กา
รูกับกาวเมิงแต่ยา มู่ไร้
ปิดเซ็นจะมูซ่า เคราทู่
เฉะแต่จะตอบให้ ชีพม้วย มังระนอ
ถอดคำผวนได้ความว่า
ไฉนเอ็งมาเว่าเวิ้ง ว่ากู
ราวกับกูมาแต่เยิง ไม่รู้
เป็นศิษย์จะมาสู้ ครูเฒ่า
ชอบแต่จะเตะให้ ชีพม้วย มรณัง
- 26 มิถุนายน 2565 วันสุนทรภู่ กวีเอก 4 แผ่นดินของประเทศไทย
- ประวัติ ‘สุนทรภู่’ พระสุนทรโวหาร เช็กสเปียร์เมืองไทย มหากวีเอก 4 แผ่นดิน
- รวม “ผลงานสุนทรภู่” เจ้าแห่งนิราศ กาพย์ กลอน ครูกวี 4 รัชกาลแห่งสยาม