ประวัติ สุนทรภู่ มหากวี 4 แผ่นดิน บุคคลสำคัญของไทยที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในด้านวรรณกรรม และเนื่องในวันสุนทรภู่ 26 มิถุนายนนี้ The Thaiger จึงขอถือโอกาสพาทุกคนไปทำความรู้จักประวัติของสุนทรภู่ ชีวประวัติของกวีเอกผู้ได้รับฉายาว่าเป็นเช็กสเปียร์ของเมืองไทยคนนี้กันให้มากขึ้นกว่าเดิม รับรองว่าถ้าได้รู้จักสุนทรภู่มากขึ้นจะยิ่งรู้สึกอัศจรรย์ใจกับความสามารถและโชคชะตาชีวิตของท่าน ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันได้เลย
ประวัติ สุนทรภู่ 236 ชาตกาล มหากวีเอก 4 แผ่นดิน สามัญชนไทยคนแรกที่ได้รับการเชิดชูจากยูเนสโก
ประวัติ สุนทรภู่ เดิมทีแล้วเป็นใคร มาจากไหน
“สุนทรภู่” หรือ “พระสุนทรโวหาร” มีนามเดิมว่า “ภู่” เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) โดยสถานที่เกิดนั้นอยู่บริเวณทิศเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริเวณรถไฟสายบางกอกน้อย ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่บริเวณวังหลังก็ได้กลายมาเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช
แต่เดิมแล้วนั้น ต้นตระกูลของสุนทรภู่ทางฝ่ายบิดามีถิ่นฐานที่อยู่ที่พระนครศรีอยุธยา และได้อพยพมาอยู่ที่ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแลง จังหวัดระยอง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่าสุนทรภู่เป็นคนระยอง จากหลักฐานพบว่าปู่และบิดาของสุนทรภู่ได้ย้ายที่อยู่มาตามพระเจ้าตากสิน แต่เมื่อครั้งสิ้นกรุงธนบุรีปู่ของสุนทรภู่ก็ได้ย้ายกลับไปอยู่ที่จังหวัดระยองตามเดิม
ในส่วนฝ่ายมารดาของสุนทรภู่นั้น คาดว่าอพยพมาตามสายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และได้เริ่มต้นความสัมพันธ์กับบิดาของสุนทรภู่ในช่วงที่กรุงรัตนโกสินทร์ก่อตั้งเป็นราชธานีแล้ว ซึ่งหลังจากที่มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี สุนทรภู่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา แต่ในช่วงที่ยังคงอยู่ในครรภ์มารดาหรืออาจจะเพิ่งเกิดได้ไม่นานนัก ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาของสุนทรภู่ก็เป็นไปอย่างไม่ค่อยราบรื่นจนทำให้ต้องเลิกรากันไป โดยบิดาของท่านได้ไปบวชอยู่ที่จังหวัดระยองบ้านเกิด
ในช่วงวัยเด็ก สุนทรภู่ได้รับการศึกษาจากวัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) จนกระทั่งเมื่อถึงวัยหนุ่มด้วยความที่เก่งกาจในด้านอักษรศาสตร์จึงทำให้สุนทรภู่มีอาชีพเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดาราม จนกระทั่งในวัย 20 ปี ก็ได้แต่งกลอนสุภาษิต และแต่งกลอนนิทาน โดยนิทานคำกลอนเรื่องแรกที่แต่งคือ “โคบุตร” ต่อมาก็ได้แต่งนิราศเมืองแกลง จากการเดินทางไปพบบิดาที่จังหวัดระยอง ด้วยความสามารถเชิงกวีที่โดดเด่นของสุนทรภู่นี้เองจึงทำให้ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว
ซึ่งในขณะเดียวกันนี้เอง สุนทรภู่ก็ได้มีความรักกับหญิงในวังคนหนึ่งชื่อ “จัน” แต่สุดท้ายแล้วก็ไปด้วยไม่รอด อาจด้วยความขี้เมาและเจ้าชู้ของสุนทรภู่ กอปรกับความขี้หึงของแม่จันจึงทำให้ทั้งคู่ต้องเลิกรากันไป จากนั้นในปลายปี พ.ศ. 2350 หลังจากที่ความสัมพันธ์กับแม่จันไม่ค่อยจะดีนัก สุนทรภู่ก็ได้เดินทางติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาท โดยการเดินทางในคราวนี้ก็ได้ถือโอกาสแต่ง “นิราศพระบาท” ไว้ด้วย จากความสามารถในด้านการแต่งคำประพันธ์จึงทำให้สุนทรภู่มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็น “ขุนสุนทรโวหาร” และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น “พระสุนทรโวหาร (ภู่)”
สุนทรภู่ กับกราฟชีวิตที่ขึ้นสุดและลงสุด
ในระหว่างที่ถูกแม่จันงอนอยู่ สุนทรภู่ก็อยู่ตัวคนเดียวแล้วออกเดินทางไปตามแต่โชคชะตาชีวิตจะกำหนด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2359 สุนทรภู่ก็ได้ลอบพาแม่จันหลบหนีไปอยู่ที่เมืองเพชร โดยพาไปหลบซ่อนอยู่ที่ถ้ำเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2363 เมื่ออายุได้ 35 ปี สุนทรภู่ก็ได้เดินทางกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นในปี พ.ศ. 2363 แม่จันก็ได้ให้กำเนิดบุตรชื่อ “หนูพัด”
และเนื่องด้วยชื่อเสียงของสุนทรภู่ในด้านการประพันธ์ที่เริ่มแพร่กระจายไปในวงกว้าง จนกระทั่งไปเข้าถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2363 สุนทรภู่ก็ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และได้สร้างคุณงามความดีในการประพันธ์ไว้หลายครั้งหลายหนทำให้เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 2 อย่างมาก จึงทรงแต่งตั้งสุนทรภู่ให้เป็น “ขุนสุนทรโวหาร”
แต่ด้วยความเจ้าชู้ของสุนทรภู่ ทำให้ในขณะรับราชการอยู่นั้นก็ได้ตกหลุมรักกับสาวนางหนึ่งชื่อ “นิ่ม” ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกับญาติผู้ใหญ่ของแม่จัน ซึ่งขณะทะเลาะกันสุนทรภู่ก็อยู่ในอาการมึนเมา จึงทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงทราบก็มีรับสั่งจำคุกสุนทรภู่ทันที พร้อมกันนั้นทางฝั่งแม่จันก็หย่าขาดกับสุนทรภู่ด้วย
และหลังจากปี พ.ศ. 2367 ทางกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสวยราชสมบติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งท่านนั้นทรงรังเกียจสุนทรภู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะเมื่อครั้งในอดีตทรงถูกสุนทรภู่ขัดแย้งในเรื่องการแต่งกลอนตลอดเวลา จึงทำให้สุนทรภู่ถูกถอดยศและถูกขับออกจากราชการ ประกอบกับเหล่าข้าราชบริพารที่พยายามจะเอาใจรัชกาลที่ 3 ก็สุมไฟใส่ร้ายสุนทรภู่มากขึ้น จึงทำให้สุนทรภู่ต้องหนีไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดราชบูรณะ
ในปี พ.ศ. 2394 หลังจากที่รัชกาลที่ 3 สวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ทรงลาผนวชแล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งในครั้งนี้ทำให้สุนทรภู่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระบวรราชวัง สุนทรภู่ทำงานสนองพระมหากรุณาธิคุณมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2398 ก็ถึงแก่มรณกรรมด้วยอายุ 70 ปี
ความสามารถในการแต่งกลอน ที่ช่วยให้สุนทรภู่รอดชีวิต
หลังจากที่ถูกจำคุกด้วยเหตุทะเลาะวิวาทกับทางญาติผู้ใหญ่ของแม่จัน ครั้งนั้นสุนทรภู่สามารถพ้นโทษออกมาใช้ได้ตามเดิมเพราะความสามารถในการแต่งกลอน โดยกล่าวกันว่ารัชกาลที่ 2 ทรงติดขัดในการพระราชนิพนธ์เรื่อง “สังข์ทอง” จึงมีรับสั่งเบิกตัวสุนทรภู่มาต่อกลอนให้ เนื่องจากไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้น่าพอพระราชหฤทัยของพระองค์ แต่สุนทรภู่ทำได้ จึงพ้นโทษและออกมารับราชการตามเดิม โดยบทกลอนที่ทำให้สุนทรภู่ได้รับการอภัยโทษนั้นมีความว่า
“แสนเอยแสนแขนง น้อยหรือแกล้งตัดพ้อเล่นต่อหน้า
ติเล็กติน้อยคอยนินทา ค่อนว่าพิไรไค้แคะ
พี่ก็ไม่หลีกเลี่ยงเถียงสักสิ่ง มันก็จริงกระนั้นนั่นแหละ
เจ้าเย้ยเยาะว่าเงาะไม่งามแงะ แฮะแฮะว่าเล่นหรือว่าจริง“
และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า สุนทรภู่นั้นแต่งงานประพันธ์ไว้มากมายจนมีชื่อเสียง จึงอาจกล่าวได้ว่าพรสวรรค์ในการแต่งกลอนของสุนทรภู่นั้นช่วยเปิดโอกาสลู่ทางในการทำมาหากิน และการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้าราชบริพารคนสนิทของรัชกาลที่ 2 แม้กระทั่งสุนทรภู่ถึงแก่มรณกรรมไปแล้ว ในวันครบรอบ 200 ปีชาตกาล (พ.ศ. 2529) ก็ยังได้รับเกียรติจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม นับได้ว่าเป็นสามัญชนคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
รวมผลงานสุนทรภู่ กวีเอกเมืองไทย
ผลงานของสุนทรภู่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เท่าที่พบหลักฐานนั้นมีทั้งสิ้น 23 เรื่อง โดยแบ่งตามประเภทของฉันทลักษณ์ได้ดังนี้
1. ประเภทนิราศ 9 เรื่อง ได้แก่
- นิราศเมืองแกลง
- นิราศพระบาท
- นิราศภูเขาทอง
- นิราศเมืองเพชร
- นิราศวัดเจ้าฟ้า
- นิราศอิเหนา
- นิราศสุพรรณ
- รำพันพิลาป
- นิราศพระประธม
2. ประเภทนิทาน 5 เรื่อง ได้แก่
- โคบุตร
- ลักษณวงศ์
- พระอภัยมณี
- สิงหไกรภพ
- พระไชยสุริยา
3. ประเภทสุภาษิต 2 เรื่อง ได้แก่
- สวัสดิรักษา
- เพลงยาวถวายโอวาท
4. ประเภทบทละคร 1 เรื่อง ได้แก่ อภัยนุราช
5. ประเภทเสภา 2 เรื่อง ได้แก่
- ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
- พระราชพงศาวดาร
6. ประเภทบทเห่กล่อม 4 เรื่อง ได้แก่
- บทเห่เรื่องจับระบำ
- บทเห่เรื่องกากี
- บทเห่เรื่องพระอภัยมณี
- บทเห่เรื่องโคบุตร
และเนื่องในวันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2565 ทาง The Thaiger ก็ขอร่วมเชิดชูเกียรติกวีเอกของชาวไทย ตำนานกวี 4 แผ่นดิน สามัญชนคนแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ร่ววมระลึกถึงผลงานของท่านที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเยาวชนของชาติ
- ประวัติ ปรีดี พนมยงค์ บุรุษผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ก่อเกิดประชาธิปไตยไทย
- 26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติด รู้จักประวัติความเป็นมา และกิจกรรมเด่นที่น่าสนใจ
- เปิดประวัติ ดารุมะ (Daruma) ตุ๊กตา ที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับพระอาจารย์ตั๊กม้อ