ไปต่อไม่ไหว! Revlon แบรนด์เครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ ยื่นล้มละลาย
Revlon แบรนด์เครื่องสำอางใหญ่จากอเมริกา ยื่นล้มละลาย หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ จนมีหนี้ท่วมสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
เป็นข่าวที่สะเทือนใจสายบิวตี้ไม่น้อย เมื่อแบรนด์เครื่องสำอางยักษ์ใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Revlon ยื่นขอล้มละลาย เนื่องจากได้รับผลกระทบปัญหาเงินเฟ้อจนมีภาระหนี้สินมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) ทางบริษัท Revlon ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อทำการขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาจึงทำให้ทางบริษัทมีหนี้มหาศาลและไม่สามารถแบกรับภาระได้อีกต่อไป
ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นผลกระทบจากปัญหาของการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ด้วยภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวทางเปลี่ยนไป และส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดขายของทางบริษัท Revlon นั้นไม่สามารถกระเตื้องขึ้นได้ พร้อมทั้งยังตกลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผลกำไรไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้สินเดิมที่เคยมีอยู่ก่อนแล้ว การยื่นขอล้มลายของ Revlon ในครั้งนี้นับว่าเป็นแบรนด์ใหญ่แบรนด์แรกของทางสหรัฐอเมริกา ที่ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย
แต่อย่างไรก็ตาม การยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ยังคงเปิดโอกาสให้ทางแบรนด์สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ เพียงแต่ต้องกำหนดเส้นทางอนาคตของบริษัทในการใช้หนี้ให้ชัดเจน โดยการตัดสินใจในครั้งนี้ทางบริษัท Revlon คาดว่าจะทำให้บริษัทได้รับเงินกู้ประมาณ 575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะลูกหนี้ขณะดำเนินการขอพิทักษ์ทรัพย์ (Debtor-in-Possession Financing: DIP) โดยจำนวนดังกล่าวจะนำมาใช้สำหรับหมุนเวียนในกิจการแต่ละวันต่อไป
ทั้งนี้แบรนด์เครื่องสำอาง Revlon ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1932 จากการจำหน่ายน้ำยาทาเล็บ ก่อนที่จะได้ทำการขยายธุรกิจออกไปในช่วงปี ค.ศ. 1955 หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1985 MacAndrews & Forbes ก็ได้ทำการเข้าซื้อกิจการของ Revlon และในช่วงหลังมานี้บริษัทก็ได้ใช้เงินทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการของ Elizabeth Arden ในปี ค.ศ. 2016 รวมถึงยังเป็นเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก
- สินมั่นคงประกันภัย ยื่นคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง
- ใกล้ล้มละลาย? Sberbank อ่วม! เตรียมถอนตัวจากยุโรป หลังถูกคว่ำบาตรเละ
- สบน. ชี้แจง ‘หนี้สาธารณะ’ ไม่ได้อยู่ในระดับทำให้ไทยล้มละลาย