เปิดประวัติ ปรีดี พนมยงค์ ชายที่เป็นทั้งรัฐบุรุษ ผู้ก่อตั้งธรรมศาสตร์ แกนนำขบวนการเสรีไทย นายกรัฐมนตรี ก่อนถึงวาระสุดท้ายในฐานะผู้ลี้ภัย ร่วมรำลึกหลายบทบาทของชายนาม ปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่ถูกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ทำความรู้จัก ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 7 รัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และแกนนำขบวนการเสรีไทย ผู้ทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นชาติที่แพ้ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หนึงในบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตของวงการเมืองการปกครองไทย หนึ่งในนักการเมืองที่สนใจแนวความคิดระบอบประชาธิปไตย พร้อมประวัติผลงานด้านการศึกษา ที่ยังคงตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงทุกวันนี้
ประวัติ ปรีดี พนมยงค์ หัวเรือสำคัญ สู่แนวทางประชาธิปไตย
ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง กับ นางลูกจันทน์ พนมยงค์ เมื่ออายุได้ 16 ปี ปรีดีเข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และยังได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย เมื่ออายุได้ 20 ปี ปรีดีได้ทุนไปศึกษากฎหมายต่อที่ประเทศฝรั่งเศส และที่นี่ทำให้เขาได้กลายเป็นกำลังสำคัญในบทบาทของบุรุษผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองของประเทศ
ชื่อของ ปรีดี พนมยงค์ คงเคยผ่านหูผ่านตาหลาย ๆ คนมาแล้ว ในหลายฐานะหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง
หลังจากที่นายเสียง พนมยงค์ ทำนาอยู่ที่ตำบลท่าหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางลูกจันทน์ได้ตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 ซึ่งห่างจากธิดาคนแรกที่ชื่อ “เก็บ” ถึง 7 ปี ทั้งสองจึงได้อพยพกลับมาอยู่ที่เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ จนถึงวันศุกร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ร.ศ. 119 เวลาบ่ายโมง (ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2443) นางลูกจันทน์จึงคลอดบุตรชายผู้นี้ออกมาอย่างยากลำบาก ถึงขนาดเป็นลมสลบไปหลังจากคลอดบุตรเสร็จ นายเสียง และญาติ ๆ จึงช่วยกันปฐมพยาบาลเธอ โดยคิดว่าทารกนั้นตายไปแล้ว เพราะไม่ได้ยินเสียงร้อง
อย่างไรก็ดี กิม บุตรนางแฟง เห็นว่าญาติผู้ใหญ่ช่วยกันปฐมพยาบาลมากพอแล้ว จึงมาเอาใจใส่ทารกน้อย แล้วทารกร้องขึ้น เป็นสัญญาณว่ายังมีชีวิตอยู่ นายเสียง และนางลูกจันทน์ ปีติยินดีที่ได้ลูกชายคนแรก จึงตั้งชื่อว่า “ปรีดี” โดยไม่มีชื่อเล่น ชื่อย่อ ชื่อจีน ชื่อแฝง หรือชื่ออื่นใดทั้งสิ้น
คงไม่มีใครคาดคิดว่า 100 ปีต่อมา เมื่อถึง พ.ศ. 2543 เด็กชายคนนี้ซึ่งต่อมาคือ “นายปรีดี พนมยงค์” จะได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยผลงานที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติ และสังคมส่วนรวมตลอดช่วงชีวิต
ปรีดีกับบทบาทด้านการเมือง
ช่วง พ.ศ. 2470 ปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย ปรีดี ได้รับการขนานนามว่าเขาคือ “มันสมอง” ของคณะราษฎร
เป้าหมายสำคัญ 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ที่จะต้องมอบให้ราษฎรในประเทศได้รับอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรที่มีจุดเริ่มต้นจากนักเรียนในต่างแดนเพียง 7 คน จนกระทั่งมีสมาชิกทั้งพลเรือน ทหารบก และทหารเรือ ก็สามารถทำการอภิวัฒน์ประเทศได้สำเร็จ โดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและปรีดีเข้าดำรงตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่คณะราษฎรจะถูกยุติบทบาทหลังจากการรัฐประหารที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ 15 ปีต่อมา
บทบาทด้านการเมืองของปรีดียังไม่หมดเพียงเท่านี้ นายปรีดีเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงใดในช่วงรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีคลัง นายกรัฐมนตรี และได้รับยศ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” อีกด้วย
ปรีดีกับบทบาทด้านการศึกษา
ปรีดียังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการศึกษาในสังคมไทยอีกด้วย เนื่องจากท่านเห็นว่าประเทศควรเจริญก้าวหน้า ควบคู่ทั้งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการศึกษา โดยปรีดีเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น และยังถือเป็นบุคคลสำคัญของธรรมศาสตร์ เนื่องจากท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การ (ก่อตั้ง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นานกว่า 18 ปี โดยมีใจความช่วงหนึ่งของสุนทรพจน์ที่ปรีดีกล่าวและยังคงตราตรึงมาจนทุกวันนี้ว่า
“มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา”
ปรีดีกับบทบาทผู้ลี้ภัย 1
สิ่งที่ทำให้ชีวิตราชการของปรีดีต้องพบกับอุปสรรคครั้งใหญ่ เกิดจาก เค้าโครงเศรษฐกิจ หรืออีกชื่อคือ สมุดปกเหลือง โดยหลังจากที่มีการเสนอเค้าโครงฉบับนี้ต่อรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้มีรัฐมนตรีในรัฐบาลกราบบังคมทูลขอให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยเพื่อปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมถึงการออกแถลงการณ์ว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ท่านและภรรยาต้องเดินทางไปที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนเดินทางกลับมาในช่วงเดือนตุลาปีเดียวกันนั้น
ปรีดีกับขบวนการเสรีไทย
ในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความวุ่นวายจากต่างประเทศและสงครามโลก ปรีดีซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังได้ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประเทศชาติอย่างมาก โดยปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังตามคำเสนอของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 และปรีดียังร่วมก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามด้วย หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี พ.ศ. 2488 รัชกาลที่ 8 ได้โปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดีในฐานะ รัฐบุรุษอาวุโส อีกด้วย
ปรีดี ชีวิต และความรัก
ปรีดี พนมยงค์ ได้พบรักและสมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในปี พ.ศ. 2471 โดยท่านผู้หญิงพูนศุขได้คอยอยู่เคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุขกับปรีดีตลอด แม้ช่วงที่ปรีดีลี้ภัยจะทำให้ทั้งคู่ต้องแยกจากกัน แต่ในที่สุดท่านผู้หญิงพูนศุขก็ได้ติดตามไปพำนักอยู่กับปรีดีที่ประเทศจีน 20 ปี และที่ประเทศฝรั่งเศสอีก 13 ปี
ปรีดีกับบทบาทผู้ลี้ภัย 2 และวาระสุดท้ายของชีวิต
สิ่งที่ทำให้ชีวิตราชการของปรีดีต้องพบกับอุปสรรคครั้งใหญ่ เกิดจาก เค้าโครงเศรษฐกิจ หรืออีกชื่อคือ สมุดปกเหลือง โดยหลังจากที่มีการเสนอเค้าโครงฉบับนี้ต่อรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้มีรัฐมนตรีในรัฐบาลกราบบังคมทูลขอให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยเพื่อปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมถึงการออกแถลงการณ์ว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ท่านและภรรยาต้องเดินทางไปที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนเดินทางกลับมาในช่วงเดือนตุลาปีเดียวกันนั้น
แต่แล้วในปี พ.ศ. 2490 ได้มีคณะรัฐประหาร นำกำลังทหารยิงระดมทำเนียบรัฐบาลที่ปรีดีและครอบครัวอาศัยอยู่ หวังจะจับตัวปรีดี ทำให้ท่านต้องเดินทางไปที่สิงคโปร์และจีนเพื่อความปลอดภัย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อยึดอำนาจประชาธิปไตยคืนจากคณะปฏิวัติ และยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดใช้อย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แพ้ต่อขบวนปรปักษ์ประชาธิปไตย ทำให้ปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศไปยังเกาะอื่น ต่อที่ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และฝรั่งเศสตามลำดับ
ปรีดีต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศโดยไร้วี่แววที่จะได้กลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน แต่แล้วสถานการณ์กลับแย่ลง เมื่อปรีดี พนมยงค์ ถูกใส่ความว่าเป็นผู้ที่มีส่วนในการลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ระหว่างที่กำลังลี้ภัยอยู่ แต่ท้ายที่สุดปรีดีได้ฟ้องผู้ใส่ร้ายตนกับศาลยุติธรรม ผู้กล่าวหาจึงยอมขอขมาปรีดีที่ไปกล่าวหาเช่นนั้น และใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม
โดยในวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตรงกับวันเกิดของท่าน เพื่อเป็นการรำลึกถึงรัฐบุรุษผู้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ และท่านยังเป็นผู้ทำให้เมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านอย่างเช่นด้านการศึกษาอีกด้วย The Thaiger ขอร่วมรำลึกถึงบุคลลสำคัญของโลกท่านนี้ นาม ปรีดี พนมยงค์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิด “จดหมายปรีดี 2024” ข้างในเขียนถึงอะไร ทำไมต้องเปิดปีนี้ที่ฝรั่งเศส
- วันเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 24 มิถุนายน 2475 ครบรอบ 90 ปี คณะราษฎรปฏิวัติสยาม
- รู้จัก หมุดคณะราษฎร เครื่องทรงจำวันอภิวัฒน์สยาม 86 ปี ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ
อ้างอิง : คณะราษฎร, สถาบันปรีดี พนมยงค์, 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์