‘ปริญญา’ ชี้ คฝ. ยิงกระสุนยางประทับบ่าใส่ม็อบ ขัดกติกา UN
อ.ปริญญา ชี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ยิงกระสุนยางประทับบ่าใส่ม็อบ ขัดกติกา UN ชี้นายกฯต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดกติกา UN
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก กรณีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. ยิงกระสุนยางประทับบ่าใส่ม็อบ ถือเป็นการการกระทำที่ไม่สอดคล้องของกติกาของสหประชาชาติ หรือ UN
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “แนวปฏิบัติของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (Guidance on less-lethal weapons in law enforcement) ได้กำหนดวิธีการใช้ #กระสุนยาง ไว้ที่ข้อ 7.5.2 ว่า
“Kinetic impact projectiles should generally be used only in direct fire with the aim of striking the lower abdomen or legs of a violent individual and only with a view to addressing an imminent threat of injury to either a law enforcement official or a member of the public”
แปลได้ความว่า “โดยหลักแล้วกระสุนยางควรใช้เฉพาะการยิงโดยตรงที่เล็งไปที่ท้องส่วนล่าง หรือขาของผู้ก่อความรุนแรง และเฉพาะเมื่อเห็นว่าจะเกิดภยันตรายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย หรือต่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดของสังคม”
ว่าง่ายๆ สหประชาชาติกำหนดเงื่อนไขในการใช้กระสุนยางไว้สองข้อคือ #หนึ่ง #จะต้องเล็งต่ำไปที่ท้องส่วนล่างหรือขา ของผู้ก่อความรุนแรง จะยิงส่งเดชไม่ได้ และ #สอง ใช้กระสุนยาง #เฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายที่กำลังเกิดกับเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายหรือประชาชน เท่านั้น
แต่การใช้กระสุนยางในการควบคุมฝูงชนที่ผ่านๆ มา และล่าสุดที่ #ดินแดง ในช่วงสองสามวันมานี้ จากภาพที่เห็นทางสื่อ เห็นได้ชัดว่ามีการยิงแบบประทับบ่าที่ไม่ได้เล็งต่ำหรือเล็งขา นั่นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ #ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางของสหประชาชาติ ครับ
แน่นอนว่า #ผู้ชุมนุมควรต้องชุมนุมโดยสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. #ก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเช่นกัน เพราะหน้าที่คือ #ควบคุมฝูงชน ไม่ใช่ไปตีกับผู้ชุมนุม
ต้องไม่ลืมว่า คฝ.ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้ชุมนุม แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อย ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นมาก็ต้องใช้มาตรการที่ละมุนละม่อมที่สุด หรือรุนแรงน้อยที่สุดในการลดความรุนแรงลงมาจนสถานการณ์สงบลง ไม่ใช่เติมไฟเข้าไป และถ้าจำเป็นถึงขนาดต้องใช้กระสุนยาง ก็ใช้กระสุนยางได้ แต่ต้องยิงต่ำตามที่กล่าวไปข้างต้น
ถามต่อว่า แล้วใครต้องรับผิดชอบต่อการยิงกระสุนยางประทับบ่าแบบนี้ คำตอบคือ นอกจากท่าน ผบ.ตร.แล้ว ก็คือคนที่อยู่เหนือท่าน ผบ.ตร. ซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรี เพราะตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ #นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชอบในการบังคับบัญชาให้ คฝ. ใช้กระสุนยางโดยยิงต่ำ ไม่ใช่ผิดกติกาประทับบ่ายิงสูงอย่างนี้ครับ
โดยเฉพาะอย่างย่ิงในเมื่อ ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมมาชุมนุมประท้วงท่าน ท่านจึงย่ิงต้องดูแลรับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องในการควบคุมฝูงชน หาไม่แล้วจะกลายเป็นว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเครื่องมือในการปกป้องอำนาจตนเอง ดังที่คนจำนวนมากเข้าใจกันเช่นนั้นครับ”