ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ หวั่น ‘กัญชาเสรี’ ชี้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรเข้าถึง

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ร่อนจดหมาย ออกแถลงการณ์ชูจุดยืน “กัญชาเสรี” เกรงเด็กและเยาวชนเข้าถึงง่าย แนะห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าถึง อาจกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์จุดยืนของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เรื่อง ผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น สืบเนื่องจากกรณีปลดล็อก กัญชาเสรี ที่มีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา
- น้องสาว ‘น้ำพุ’ เตือนใจ จุดจบพี่ชายก็เริ่มจาก ‘กัญชา’ แนะอย่าลองดีที่สุด
- ‘โจอี้ บอย’ เตือนมือใหม่ อย่าเพิ่งลองกิน หลังปลดล็อกกัญชา
- ปลดล็อกกัญชา และผลประโยชน์ทางการแพทย์

ในแถลงการณ์สรุปได้ว่า การ ปลดล็อกกัญชา จะส่งผลให้ทุกคนในประเทศ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กและวัยรุ่นสามารถเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชาซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดมาใช้เพื่อนันทนาการ

ในพืชกัญชามีสารแคนนาบินอยด์ หลายชนิด แบ่งเป็น สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ ได้แก่ THC นำมาใช้ในทางการแพทย์ เช่น รักษาประคับประคองของมะเร็งระยะสุดท้าย และสารไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ ได้แก่ แคนนาบินอยด์ (cannabidiol-CBD) ซึ่งนำมาใช้รักษาโรคลมชักชนิดดื้อยากันชัก
หากมีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารหรือแปรรูปต่าง ๆ โดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนจะมีโอกาสได้รับ สารแคนนาบินอยด์ เข้าไปจนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง

โดยเฉพาะผลกระทบต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท ภาวะฆ่าตัวตาย เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่น ๆ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย จึงมีคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น ดังนี้
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ดังนั้น เด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์
- ประชาสัมพันธ์กับประชาชนเรื่องโทษของการใช้กัญชากับสมองเด็ก เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อการเข้าถึงกัญชาในเด็กและวัยรุ่นเพื่อนันทนาการว่า กัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลกระทบในระยะยาวต่อสมอง
- ให้มีมาตรการควบคุมการผลิตและขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย/ข้อความเตือนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ “ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค”
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อไปในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น
ขอบคุณข้อมูล thaipediatrics