ข่าวข่าวการเมือง

อัยการแจงยิบ! ไทม์ไลน์คดี GT200 ยันไม่พิสูจน์แล้ว

สำนักงานอัยการออกมาชี้แจงอย่างละเอียด ไทม์ไลน์คดี GT200 ยืนยันไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เพิ่มเติม เพราะคดีจบแล้ว

นาย ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาชี้แจงกรณีที่ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ออกกล่าวถึงกรณีที่ สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้กองทัพบกดำเนินการตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งหมด 757 เครื่อง และนำไปสู่การว่าจ้างเป็นเงิน 7,570,000 บาท และนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังที่รายงานก่อนหน้านี้

Advertisements

โดยในประเด็นนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับหนังสือจากกองทัพบกเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2560 แจ้งให้ สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กับพวก

กรณีข้อพิพาทการจัดซื้อขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 รวม 12 สัญญา วงเงิน 683,900,000 บาท ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบให้สำนักงานอัยการคดีปกครองเป็นผู้พิจารณา และมอบหมายให้สำนักงานอัยการคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน

ซึ่งเมื่อได้เรื่องแล้วพนักงานอัยการผู้ตรวจสำนวนได้มีหนังสือแจ้งลงวันที่ 24 ม.ค. 60 ให้กองทัพบกดำเนินการส่งเครื่อง GT200 ไปตรวจพิสูจน์ทั้งหมดรวม 757 เครื่อง เพื่อที่จะทราบว่าเป็นเครื่องที่ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาจริง ซึ่งในประเด็นนี้ถือว่าเป็นข้อแพ้-ชนะคดี แต่ในส่วนรายละเอียดทางกองทัพจะไปตรวจอย่างไร ราคาเท่าไหร่ ทางอัยการไม่ได้ก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องของกองทัพบกที่จะต้องดำเนินการ จะจ้างใครตรวจก็ไม่เกี่ยวกับอัยการ เราเพียงแต่ให้ไปตรวจเพื่อนำผลตรวจพิสูจน์มา

ต่อมาวันที่ 27 เม.ย. 60 อัยการสำนักงานคดีปกครอง 5 ได้ยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด, นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอฯ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้ค้ำประกัน วงเงิน 56 ล้านบาทเศษ, ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะแบงก์การันตี วงเงิน 6 ล้านบาทเศษ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 โดยอัยการได้ยื่นฟ้องจำนวนทุนทรัพย์ทั้งหมด 687,691,975 บาท

ในวันที่ 28 ธ.ค. 60 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดี โดยให้เหตุผลเนื่องจากคดีขาดอายุความ อัยการยื่นอุทธรณ์ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ

Advertisements

กระทั่งวันที่ 1 มิ.ย. 61 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกรณีที่อัยการยื่นอุทธรณ์ว่าคดีไม่ขาดอายุความ พร้อมสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณา

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า เครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจึงพิพากษาว่า ให้บริษัทเอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ให้ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้ออกแบงก์การันตีรับผิดชอบในวงเงิน 56,856,438 บาท ให้ธนาคารกรุงเทพในส่วนแบงก์การันตีรับผิดชอบวงเงิน 6,195,452 บาท และยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ ผู้บริหารเอวิเอ เนื่องจากยังฟังไม่ได้ความว่าได้กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล

วันที่ 8 ก.ย. 64 สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลคดีให้กองทัพบกทราบ หลังจากนั้นในวันที่ 23 ก.ย. 64 ผู้ถูกฟ้องทุกคนยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 8 มี.ค. 65 อัยการคดีปกครองยื่นอุทธรณ์ โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ศาลยกฟ้องร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องที่ 1 จนวันที่ 7 ก.พ. 65 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ และวันที่ 7 มี.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ คดีจึงเป็นอันถึงที่สุดที่ให้บริษัทเอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในส่วนที่อยู่ในศาลปกครองสูงสุดจึงมีเพียง 2 ประเด็น คือ ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพ และประเด็นที่อัยการขอให้นายสุทธิวัฒน์ร่วมรับผิดกับบริษัทฯ

ฉะนั้น สรุปการตรวจเครื่อง GT200 จึงไม่มีความจำเป็นเนื่องจากคดีมันสิ้นกระแสความแล้ว และทางอัยการแจ้งผลให้กองทัพบกทราบตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 64 แล้ว

“ในส่วนของอัยการที่เรายืนยันในเวลาขณะนั้นให้ตรวจเพราะมีความจำเป็นทางคดี แต่เมื่อคดีมันเดินมาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องชนะคดีมา 600 กว่าล้าน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจอะไรอีก” นายประยุทธ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button