ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

สรุป PDPA พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คืออะไร บังคับใช้เมื่อไหร่ ดูคำตอบ

ตอบคำถามให้เคลียร์ สรุป PDPA คืออะไร ? เริ่มบังคับใช้เมื่อไหร่ PDPA ย่อมาจากคำว่าอะไร พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คุ้มครองใครบ้าง ดีกับความเป็นส่วนตัวของเราอย่างไร บังคับใช้เมื่อไหร่ ภาคธุรกิจต้องมีส่วนกับกฎหมายนี้หรือไม่ กฎหมายบังคับใช้ใหม่ที่คนไทยอาจยังไม่คุ้นเคยฉบับนี้คืออะไร มาร่วมไขข้อข้องใจไปกับ The Thaiger ไม่อย่างนั้นระวังคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง!

สรุป PDPA คืออะไร

PDPA คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ย่อมาจากคำว่า Personal Data Protection Act คือข้อกฎหมายที่ใช้ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยภาคเอกชนหรือภาครัฐที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ก่อนจะมีการเก็บ รวบรวม ใช้ข้อมูล หรือนำข้อมูลไปเปิดเผย ซึ่งหากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอม ก็อาจมีความผิดทางกฎหมายได้

ถ้าอย่างนั้น ข้อมูลส่วนบุคคล มีอะไรบ้าง คำตอบก็คือ ข้อมูลต่าง ๆ ที่สามารถระบุตัวตนของแต่ละคนได้นั่นเอง เช่น ชื่อ-สกุล, หมายเลขประจำตัวประชาชน, เบอร์โทรศัพท์, ที่อยู่, อีเมล รวมถึงข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ เช่น สุขภาพ, การศึกษา, การเงิน, ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เช่น Username, Password, GPS Location เป็นต้น

พรบ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

PDPA บังคับใช้เมื่อไหร่

พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ มีกำหนดบังคับใช้ ในวันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้

4 ข้อเข้าใจผิด เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA

หลังจากที่มีประกาศบังคับใช้กฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกมา ได้มีการแพร่กระจายข้อมูลเป็นจำนวนมาก รวมถึงข้อห้ามเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA เช่น ห้ามถ่ายรูปติดใบหน้าผู้อื่น ห้ามติดตั้งกล้องวงจรปิดนอกบ้าน ห้ามโพสต์ภาพที่ติดใบหน้าผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความจริง ล่าสุด (30 พ.ค.) หน่วยงานสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส) ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก PDPC Thailand เพื่อชี้แจงความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

  • ห้ามถ่ายรูป ห้ามถ่ายคลิปวิดีโอที่ติดใบหน้าของผู้อื่น ในระดับที่สามารถระบุได้ว่าบุคคลนั้นคือใคร

หากการถ่ายรูปดังกล่าวกระทำไปโดยไม่เจตนา ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้

  • ห้ามโพสต์ภาพ หรือ Live ติดใบหน้าผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต

หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ได้ทำไปเพื่อการค้าหรือแสวงผลกำไร ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้

  • ห้ามติดตั้งกล้องวงจรปิดนอกบริเวณบ้าน หรือพื้นที่สาธารณะซึ่งอาจมีโอกาสถ่ายติดใบหน้าของบุคคลอื่นได้

การติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัย ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน

  • ห้ามเก็บ รวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต

ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมทุกครั้ง หากเป็นการนำข้อมูลไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

– เป็นการทำตามสัญญา

– เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ

– เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล

– เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ

– เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

– เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง

แต่ทั้งนี้หลักการดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป

PDPA คืออะไร

บทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดกฎหมาย PDPA

สำหรับบทลงโทษ หากกระทำความผิด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA มีดังนี้

โทษทางแพ่ง กฎหมาย PDPA พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เกิดจากการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายโดยทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย ต้องชดใช้เป็นเงิน

  • ชดเชยค่าสินไหมจากความเสียหายที่ได้รับ โดยศาลสามารถสั่งลงโทษเพิ่มได้ไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมทดแทน

โทษทางอาญา พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เวอร์ชั่น 2562

เกิดจากการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โดยมีพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามต่อผู้อื่นและส่วนรวม มีข้อกำหนดบทลงโทษ ดังนี้

  • ดูหมิ่น ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย ได้รับความอับอาย หรือถูกเกลียดชัง จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
  • แสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
  • เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่ล่วงรู้มาด้วยการปฏิบัติหน้าที่ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

PDPA คืออะไร

โทษทางปกครอง ของ PDPA

เกิดจากการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย PDPA แต่ความผิดไม่ร้ายแรงเท่าระดับโทษอาญา มีข้อกำหนดบทลงโทษ ดังนี้

  • หากเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอมที่ถูกวิธี ไม่แจ้งรายละเอียดให้เจ้าของข้อมูลทราบ ไม่ให้เจ้าของข้อมูลเข้าถึงข้อมูลได้ตามสิทธิ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
  • หากเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท
  • หากมีการเก็บ รวบรวม หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแบบผิดกฎหมาย ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดทางกฎหมาย PDPA ยังมีส่วนปลีกย่อยที่ต้องศึกษาอีกมาก ไม่รวมถึงข้อยกเว้นเหตุต่าง ๆ โปรดอ่าน พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ส. 2562 หรือ PDPA ฉบับเต็ม ที่นี่

อ้างอิงจาก (1)

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx