การเงิน

ส่อง! วิธีรีไฟแนนซ์บ้าน กับทาง ธอส. (GH Bank)

The Thaiger จะพาไปดูกับ วิธีรีไฟแนนซ์บ้าน กับทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. – GH Bank) สำหรับผู้ที่สนใจต้องการปิดสินเชื่อกับทางธนาคารแทนที่ธนาคารเดิม

(27 พ.ค. 2565) หลังจากที่ดำเนินการผ่อนสินเชื่อบ้านจากธนาคารอื่น ๆ กันไปแล้ว แต่รู้สึกว่ามีปัญหากับภาระการผ่อน, ดอกเบี้ย หรือระยะเวลาของธนาคารที่กู้อยู่ ทางออกของปัญหาดังกล่าวก็คือการดำเนินการ รีไฟแนนซ์บ้าน โดยหนึ่งในธนาคารที่ดำเนินการในด้านนี้ก็คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. – GH Bank) ที่เปิดให้ผู้กู้สามารถดำเนินการโยกย้ายการชำระสินเชื่อจากธนาคารเดิมไปยังธนาคารใหม่ที่ต้องการได้

ซึ่งภายในวันนี้ ทาง The Thaiger จะพาไปดูกันถึง วิธีรีไฟแนนซ์บ้าน กับทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. – GH Bank) กัน

1. ทำการตรวจสอบสัญญากู้เดิม

ขั้นตอนเริ่มต้นของการรีไฟแนนซ์ก็คือ การตรวจสอบเอกสารสัญญากู้เดิมก่อนว่าถึงเวลาในการดำเนินการยื่นรีไฟแนนซ์ได้แล้วหรือยัง โดยทั่วไปแล้วนั้นธนาคารจะเปิดให้สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลา 3 ปี แต่ทั้งนี้แล้วผู้กู้สามารถเริ่มดำเนินการยื่นเรื่องก่อนได้ เนื่องจากการดำเนินการรีไฟแนนซ์จะใช้เวลาถึง 1-2 เดือนก่อนเริ่มดำเนินการได้

นอกเหนือจากนี้แล้วให้ดำเนินการตรวจสอบว่าสัญญาเปิดให้สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ (Retention) ได้หรือไม่ และสามารถลดลงได้ถึงเท่าไหร่ เพื่อประกอบการพิจารณา

2. เลือกธนาคารในการดำเนินการรีไฟแนนซ์

ถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเมื่อเริ่มกู้สินเชื่อบ้าน ที่ต้องเลือกให้ได้ผลที่คุ้มค่าที่สุด, ต้องได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าที่ย้ายมา โดยพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยตามโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร หรือตามอัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นของโครงการสินเชื่อบ้าน

3. จัดเตรียมค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์

ถึงแม้ว่าการรีไฟแนนซ์จะมีจุดประสงค์เพื่อลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่ต้องชำระลงมานั้น แต่การดำเนินการดังกล่าวก็มีราคาที่ต้องจ่ายอยู่ โดยค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในกระบวนการรีไฟแนนซ์ ก็ได้แก่

  • ค่าประเมินราคาหลักประกัน ตามแต่ละธนาคารกำหนด ทั้งนี้ ถ้าหากขอปรับอัตราดอกเบี้ยหรือรีไฟแนนซ์กับธนาคารเดิมก็อาจไม่ต้องเสียเงินในส่วนนี้
  • ค่าธรรมเนียมในการปล่อยกู้ใหม่ แต่ถ้าหากทำเรื่องกับธนาคารเดิมอาจไม่ต้องเสีย
  • ค่าอากรณ์แสตมป์
  • ค่าจดจำนองที่ดิน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะจ่ายให้กับกรมที่ดินไม่ว่าจะยื่นเรื่องกับธนาคารใดก็ตาม แต่หากทำเรื่องกับธนาคารเดิมก็ไม่จำเป็นต้องจดจำนองใหม่ จึงไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ละธนาคารอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็นค่าใช้จ่ายได้ เช่น ค่าไถ่ถอนจำนอง ค่าทำประกันอัคคีภัย ค่าปรับกรณีรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนด เป็นต้น

โดยบางธนาคารอาจจะมีโปรโมชั่นในการละเว้นค่าใช้จ่ายบางรายการให้กับผู้ดำเนินการ ซึ่งก็ต้องทำการศึกษา และสอบถามทางธนาคารให้ถี่ก้วนก่อนเป็นอันดับแรก ๆ

4. จัดเตรียมเอกสาร

มาถึงในส่วนของการดำเนินการจัดเตรียมเอกสารเพื่อดำเนินการรีไฟแนนซ์ โดยเอกสารที่ใช้งานนั้น ก็ไม่ต่างจากการขอกู้สินเชื่อเสียเท่าไหร่ เว้นแต่ที่เอกสารหลักประกันนั้นจะเป็นตัวบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ (เป็นหลักค้ำประกันใหม่) ซึ่งเอกสารมีด้วยกันดังนี้

เอกสารส่วนบุคคล

  • บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
  • สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (ถ้ามี)
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)

เอกสารทางการเงิน

  • ใบรับรองเงินเดือน
  • สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
  • สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน (หรือ 12 เดือน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ)
  • หลักฐานการเสียภาษีเงินได้

*สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระอาจต้องยื่นสำเนาใบประกอบวิชาชีพ หรือสำหรับเจ้าของกิจการต้องแสดงหลักฐานกิจการ เช่น รูปภาพกิจการ เป็นต้น

เอกสารหลักประกัน

  • หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
  • สำเนาโฉนดที่ดิน / นส.3ก / หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด / อช.2 ทุกหน้า
  • ภาพถ่ายเพื่อแสดงสิทธิหลักประกัน
  • สัญญากู้เงิน / สัญญาจำนอง / ใบเสร็จ / Statement ย้อนหลัง 12 เดือนกับสถาบันการเงินเดิม
  • สัญญาซื้อขายฉบับกรมที่ดิน ทด.13

*หากมีผู้กู้ร่วม ผู้กู้ร่วมต้องเตรียมเอกสารข้างต้นเช่นเดียวกัน

5. เริ่มดำเนินการรีไฟแนนซ์

หลังจากที่ผ่านมาขั้นตอนต่าง ๆ ทั้ง 4 ขั้นตอนแล้วนั้น ก็มาถึงในส่วนของการเริ่มดำเนินการรีไฟแนนซ์แล้ว โดยขั้นตอนในภาคส่วนนี้ ก็ได้แก่

– รับทราบผลการอนุมัติรีไฟแนนซ์จากทางธนาคารใหม่

– ติดต่อธนาคารเดิมเพื่อขอดำเนินการไถ่ถอนที่ดิน และปิดบัญชีสินเชื่อเดิม

– ติดต่อนัดวันเวลากับทั้งธนาคารเดิม และธนาคารใหม่เพื่อทำนิติกรรม

– ดำเนินการจดจำนองสินทรัพย์

โดยทางธนาคารนั้น จะให้การช่วยเหลือและอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ให้แก่ผู้ดำเนินการ เพื่อความสะดวกสบายในการรีไฟแนนซ์

 

แหล่งที่มาของข่าว : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. – GH Bank)

สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button