‘ชัชชาติ’ เชื่อคำร้อง ‘ป้ายหาเสียงกระเป๋า’ ไม่เป็นปัญหา ชี้ป้ายหาเสียงอื่นถูกมุงหลังคา
ชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงคำร้องของ ศรีสุวรรณ ต่อ ป้ายหาเสียงกระเป๋า เชื่อไม่มีปัญหา ชี้ป้ายหาเสียงอื่นถูกมุงหลังคา
นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องสอบ กรณี ทำป้ายหาเสียงไวนิลที่สามารถรียูสนำมาใช้เป็นกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน ว่าเข้าข่ายในทางจัดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้หรือไม่
โดยนายชัชชาติที่ออกไปวิ่งกับกลุ่มเพื่อนชัชชาติได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นป้ายหาเสียงกระเป๋าว่า เรื่องนี้ตนได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายดูอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อ
ซึ่งเราก็พยายามเก็บป้ายกลับให้มากที่สุด แต่เท่าที่ตนเห็นประชาชนก็นำป้ายของคนอื่นไปมุงหลังคา บังเอิญของเรานำมารีไซเคิลแล้วสวยดี เลยเก็บกลับไป
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ iLaw เพจกฎหมายดัง ระบุว่า “มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไป ลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด”
ถ้านำบทบัญญัติดังกล่าวมาเทียบเคียงกับกรณีการทำป้ายหาเสียงของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะพบว่า การทำป้ายดังกล่าวไม่มีเจตนาจัดทำป้ายเพื่อมาแจกจ่ายผู้ใดอันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับตัวเอง และชัชชาติได้ชี้แจงในทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ว่า ทีมงานออกแบบป้ายหาเสียงรีไซเคิลได้ เพราะไม่อยากให้กลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง และจะไว้ใช้กันต่อกันเองในทีม
ดังนั้น ลำพังแค่การออกแบบป้ายหาเสียงให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ จึงไม่เพียงพอต่อการบอกว่าเป็นการจัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง