ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

โรค ‘โฮโมโฟเบีย’ (Homophobia) คืออะไร เป็นแล้วรักษาได้ไหม อาการแบบไหนเข้าข่าย

“โฮโมโฟเบีย” (Homophobia) หนึ่งในอาการกลัวที่ปราศจากเหตุผล หรืออาการกลัวที่มีมากจนเกินไป โดยอาการกลัวแบบโฮโมโฟเบียนั้นเป็นความกลัวหรือความเกลียดผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือรักร่วมเพศ (LGBTQ+) ซึ่งในวันนี้ทาง The Thaiger จะชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับความกลัวดังกล่าวว่า มีสาเหตุมาจากอะไร มีอาการอย่างไร เป็นแล้วต้องไปหาหมอไหม รักษาได้หรือไม่ เรามีคำตอบมาฝากกัน

โรค โฮโมโฟเบีย (Homophobia) คืออะไร ทำอย่างไรถ้าเราเกลียดและกลัวคนรักร่วมเพศ

Advertisements

โรคโฮโมโฟเบีย (Homophobia) มีสาเหตุมาจากอะไร

ความกลัวนั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เพราะความกลัวเป็นสัญชาตญาณเอาตัวรอดอย่างหนึ่งของมนุษย์ หากเกิดความกลัวก็จะทำให้มนุษย์หลีกเลี่ยงกับสิ่งที่กลัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจ

แต่ในกลุ่มคนบางประเภทก็มีความกลัวที่มากกว่าคนอื่น ๆ หรือมีความกลัวในสิ่งที่คนอื่น ๆ ไม่รู้สึกว่าน่ากลัว โดยความกลัวเหล่านั้นจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว เราเรียกความกลัวที่มากเกินกว่าปกติเหล่านั้นว่า “โรคกลัว” หรือ “โฟเบีย(Phobia) และโฮโมโฟเบีย (Homophobia) หรืออาการกลัวคนรักร่วมเพศเองก็เป็นหนึ่งในโฟเบียที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรักต่างเพศ (ชาย-หญิง)

ซึ่งในปัจจุบัน แม้วงการแพทย์จะยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคกลัวได้ แต่ก็มีหลายทฤษฎีที่พยายามจะให้เหตุผลต่อการเกิดโรคกลัวดังกล่าว เช่น ปมขัดแย้งที่ติดค้างในจิตใต้สำนึก สภาพแวดล้อมที่ถูกเลี้ยงดูมา หรือความเชื่อความศรัทธาในหลักคำสอนบางอย่าง ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการกลัวคนรักร่วมเพศหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ

โฮโมโฟเบีย

Advertisements

ลักษณะอาการแบบไหน ถึงจะเข้าข่ายโรคโฮโมโฟเบีย

โดยทั่วไปแล้วลักษณะอาการของโรคกลัว หรือ โฟเบีย มักจะเกิดกับร่างกายเพื่อพบเจอกับสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้กลัว โดยจะมีอาการกล้ามเนื้อตึงตัว ปวดศีรษะ ใจสั่น หายใจไม่ทัน ตัวสั่น บางรายอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้

แต่โรคโฮโมโฟเบียนั้นมีลักษณะการแสดงออกที่แตกต่างไปจากโรคกลัวแบบอื่น ๆ ซึ่งอาการที่แสดงออกมานั้นจะเกิดขึ้นจากความกลัวที่มีความเกลียดชังผสมปนเปอยู่ด้วย จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคโฮโมโฟเบียมักแสดงท่าทีรังเกียจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจใช้คำพูดลดทอนคุณค่า กีดกันคนรักร่วมเพศในด้านหน้าที่การงานหรือกิจกรรมทางสังคม และที่เลวร้ายที่สุดคือการทำร้ายร่างกายคนรักร่วมเพศ

หากเราลองสังเกตพฤติกรรมตัวเองว่ามีอาการเกลียดหรือกลัวคนรักร่วมเพศหรือไม่ ถ้าพบว่ามีอาการดังกล่าวก็ควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อทำการประเมินเบื้องต้นว่าอาจเป็นโรคโฮโมโฟเบียได้ เพราะโรคโฮโมโฟเบียถือเป็นหนึ่งในโรคกลัว ซึ่งเป็นอาการความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีอาการกลัวที่ผิดปกติไปจากเดิมก็ควรเข้ารับการรักษาโดยจิตแพทย์

โฮโมโฟเบีย

การรักษาโรคโฮโมโฟเบีย เป็นแล้วรักษาอย่างไร หายขาดไหม

โดยปกติแล้วการรักโรคกลัวในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะใช้ “พฤติกรรมบำบัด(behavioral therapy) เพื่อปรับความคิดให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญหน้ากับความกลัวเหล่านั้นได้โดยไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมืออย่างมาก

แต่ถ้าหากว่าผู้ป่วยไม่สามารถให้ความร่วมมือในการทำพฤติกรรมบำบัดได้ แพทย์อาจมีการพิจารณาใช้ยารักษาในผู้ป่วยบางรายควบคู่กันไปด้วย (pharmacotherapy) เพื่อทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการกลัวน้อยลงและกล้าที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งกระตุ้นมากขึ้น และหากได้ผลดีแพทย์ก็จะค่อย ๆ ลดยาลงตามลำดับ

โฮโมโฟเบีย

โรคโฮโมโฟเบีย หรือโรคโฟเบียอื่น ๆ นั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยการเข้ารับการรักษาด้วย หากเราสังเกตพบว่าตนเองมีอาการโฟเบียเกิดขึ้น ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานโรคโฟเบียอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรา

และทุกคนควรตระหนักได้ว่า “Phobia is not a joke” หากพบว่าคนรอบตัวหรือคนใกล้ชิดมีอาการโฟเบียก็ไม่ควรล้อเลียน แต่ควรแนะนำและให้คำปรึกษาแก่บุคคลเหล่านั้น เพื่อให้เขาหายป่วยจากอาการโฟเบียและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

อ้างอิง : 1 2 3


Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button