ภาวะ MIS-C อาจจะเป็นคำเรียกที่ไม่คุ้นหูพวกเรามากนัก แต่ทุกคนรู้ไหมว่าภาวะที่ว่ามานั้นรุนแรง และอันตรายถึงชีวิตเชียวล่ะ ซึ่งหลังจากที่มีกระแสว่าเพจดังในเฟซบุ๊ก ได้โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะ MIS-C หรือ ภาวะมิสซี ที่เกิดขึ้นในเด็กหลายรายหลังจากที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ก็ทำให้บรรดาพ่อแม่และผู้ปกครองต่างพากันเฝ้าระวังอาการของลูกหลานในครอบครัวที่หายป่วยจากโควิด-19 กันมากขึ้น
วันนี้ทาง The Thaiger จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จัก “ภาวะ MIS-C” ว่าคืออาการอะไร มีสาเหตุมาจากอะไร และจะหาทางรักษาหรือป้องกันภาวะดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง ไปศึกษาข้อมูลพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า
รู้จัก ภาวะ MIS-C ผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง บุตรหลานที่เคยติดโควิดมาแล้วอาจเสี่ยงเป็นได้
ภาวะมิสซี (MIS-C) คืออะไร ?
MIS-C หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children เป็น กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะมีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกายพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอาการในระบบหัวใจ ปอด ตับ ไต สมอง ผิวหนัง ตา ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบทางเดินอาหาร ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง แต่เป็นภาวะที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อผิดปกติไป
ภาวะมิสซี (MIS-C) เป็นอย่างไร อาการแบบไหนบ้างที่เข้าข่าย
หากเด็กคนไหนที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด-19 ภายในช่วง 2 เดือน แล้วมีอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที
- มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีอาการอักเสบในร่างกายตามระบบอวัยวะ อย่างน้อย 2 ระบบขึ้นไป เช่น
-
- ระบบผิวหนัง เยื่อบุจะมีอาการ ได้เเก่ ผื่น ตาแดง มือเท้าบวม
- ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
- ระบบหัวใจ ได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น ช็อค ซึ่งเป็นอาการแสดงที่รุนแรง อาจเสียชีวิตได้
- ระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบไต ระบบประสาท ระบบหายใจ ระบบเลือด
ผู้ปกครองหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าภาวะดังกล่าวเป็นอาการเดียวกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) แต่สิ่งที่สังเกตได้คือ ภาวะมิสซีส่วนใหญ่นั้นจะพบได้ในเด็กโต แต่โรคคาวาซากิจะพบได้ในเด็กเล็ก
ภาวะมิสซี (MIS-C) หากเป็นแล้ว จะรักษาได้อย่างไร
ในปัจจุบัน การรักษาภาวะมิสซีนั้นทำได้เพียงรักษาไปตามอาการเท่านั้น โดยแพทย์จะมุ่งเน้นไปที่การลดการอักเสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น โดยต้องป้องกันการอักเสบกลับเป็นซ้ำ ควบคุมและปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และต้องติดตามอาการต่อเนื่องในระยะยาวอย่างน้อย 1 ปี
ซึ่งหากผู้ปกครองที่บุตรหลานมีประวัติป่วยเป็นโควิด-19 หากพบเห็นอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพาลูกหลานไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพราะภาวะมิสซีอาจมีอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
รู้อย่างนี้แล้ว พ่อแม่และผู้ปกครองทุกท่านต้องรีบหมั่นสังเกตเด็ก ๆ ในบ้านอย่างใกล้ชิด หากบ้านไหนลูกหลานเคยป่วยเป็นโควิด-19 ยิ่งต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ หากเริ่มมีอาการผิดปกติแม้เพียงนิดเดียวก็ควรจะรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย หากเริ่มรักษาเร็วก็จะยิ่งหายเร็วขึ้น ส่วนคราวหน้า The Thaiger จะพาไปเรียนรู้สาระดี ๆ อะไรอีก ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ ?
เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล