เปิดข้อกฎหมายกรณี ลูกฆ่าแม่ หลังเหตุสะเทือนขวัญวางแผนฆ่าแม่ที่สมุทรปราการ
เด็ก 14 ฆ่าแม่ ต้องรับโทษอะไรบ้าง หลังคดีสะเทือนขวัญ วางแผนฆ่าแม่ กับแฟนฟนุ่ม 16 ปี ก่อเหตุสุดสลดปลิดชีพแม่บังเกิดเกล้า โทษหนักสุดกรณีเยาวชนทำความผิดอาญาร้ายแรง คืออะไร ดูที่นี่
เด็ก 14 ฆ่าแม่ คดีสะเทือนขวัญ สุดสลด ที่เป็นข่าวเผยแพร่เกือบทุกสำนัก ก่อนก่อเหตุมีการวางแผนร่วมกับแฟนหนุ่ม วัย 16 ปี โดยปมก่อเหตุเพราะถูกผู้เป็นแม่บังคับห้ามคบหาและไม่ให้เจอกัน
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ภายในโครงการบ้านเอื้ออาทรขจรวิทย์ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลีจ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในส่วนความคืบหน้าของคดี เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุทั้ง 2 รายไว้ที่ สภ.บางพลี เวลานี้อยู่ระหว่างเตรียมรอสอบปากคำอย่างละเอียดกับเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
คดีนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมพากันให้ความสนใจและวิพากวิจารณ์จำนวนมาก โดยวันเกิดเหตุระหว่างที่เตรียมควบคุมตัวผู้ต้องหาไปโรงพัก ปรากฏ ชาวบ้านจำนวนมากต่างเข้ามาลุมล้อมบริเวณที่เกิดเหตุ บางส่วนมีการเข้ามาทำร้ายผู้ก่อเหตุด้วยความโกธแค้นจนเจ้าหน้าที่อาสาบางรายได้รับบาดเจ็บจากการโดนลูกหลง ส่วนแฟนหนุ่มมือมีดที่ลงมือก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ต้องพาตัวออกด้านหลังตึก เพื่อเลี่ยงการถูกรุมประชาทัณฑ์
ความสะเทือนใจหนนี้ยังนำมาซึ่งการเปิดข้อกฎหมายที่หลายคนสงสัย เกี่ยวกับบทลงโทษกรณี ลูกฆ่าแม่ จะต้องเผชิญกับบทลงโทษและข้อหาอะไรบ้าง ?
เปิดข้อกฎหมายกรณี เด็ก 14 ฆ่าแม่ กฎหมายเยาวชน ล่าสุด
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ผู้ใดฆ่าบุพการี ต้องระวางโทษประหารชีวิต
อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ที่ผู้ก่อเหตุอายุ 14 ปี ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายเลย แต่ให้ศาลมีอำนาจดำเนินการ โดยเรื่องความรับผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนนี้ ประมวลกฎหมายอาญาได้แบ่งกลุ่มอายุของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไว้
โดย เด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี กระทำความผิดอาญาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยถือว่าเด็กนั้นอาจเป็นผู้กระทำความผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้กฎหมายก็ยังถือว่ามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างจำกัดเช่นเดียวกัน จึงให้มีการยกเว้นโทษแก่เด็กที่กระทำ ความผิด โดยห้ามมิให้ลงโทษทางอาญาแก่เด็กนั้นเลย แต่ทั้งนี้หมายความว่า การกระทำของเด็กนั้นยังเป็นความผิดกฎหมายอาญาอยู่ เพียงแต่กฎหมายไม่เอาโทษเท่านั้น
อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี ที่กระทำความผิดนี้ กฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะใช้ “วิธีการสำหรับเด็ก”ได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงเด็กให้เป็นคนดี และไม่กระทำความผิดขึ้นอีกในอนาคต
วิธีการสำหรับเด็ก ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่
- การว่ากล่าวตักเตือนแก่เด็กที่กระทำความผิด หรือแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่
- การเรียกบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่มาทำทัณฑ์บนว่าจะระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายขึ้นอีก
- การใช้วิธีการคุมประพฤติสำหรับเด็ก โดยมีพนักงานคุมประพฤติคอยควบคุมสอดส่อง
- ส่งตัวไปอยู่กับบุคคลหรือองค์กรการที่ยอมรับเด็กเพื่อสั่งสอนอบรม
- ส่งตัวไปโรงเรียนหรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก( แต่ไม่ให้อยู่จนอายุเกิน 18 ปี)
ส่วนในเคสของแฟนหนุ่ม อายุ 16 ปี จะเข้าในกลุ่มเด็กอายุ 15 ปี ไม่เกิน 18 ปี กระทำความผิด กฎหมายถือว่ามีความรู้สึกผิดชอบตามสมควรแล้ว แต่ก็ไม่อาจถือว่ามีความรู้สึก ผิดชอบอย่างเต็มที่ เช่น กรณีผู้ใหญ่กระทำความผิด กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ โดยศาลที่พิจารณาคดีอาจเลือกลงโทษทางอาญา แก่เด็กนั้นเช่นเดียวกับกรณีคนทั่วไป (แต่ให้ลดโทษลงกึ่งหนี่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อน)หรือศาลอาจจะเลือกใช้ “วิธีการสำหรับเด็ก”อย่างที่ใช้กับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15ปีก็ได้
ทั้งนี้การที่ศาลจะใช้ดุจพินิจลงโทษเด็กนั้น หรือเลือกใช้ “วิธีการสำหรับเด็ก”ศาลต้องพิจารณาถึง “ความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวง เกี่ยวกับผู้นั้น”เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะเลือกใช้วิธีใดระหว่างการลงโทษทางอาญา กับการใช้วิธีการสำหรับเด็ก และถ้าศาลเห็นสมควรลงโทษทางอาญา ศาลก็ต้องลดโทษลงกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนด้วย
อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน