อาหาร

สุกี้ ชาบู ต่างกันอย่างไร ? ไขข้อสงสัย สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้

สุกี้ กับ ชาบู ต่างกันอย่างไร เคยไหมเวลาที่ไปรับประทานอาหารจำพวกหม้อไฟแบบตำรับญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านไหนก็รู้สึกสงสัยขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เราทานอยู่ตรงหน้าเขาเรียกว่า “สุกี้” หรือ “ชาบู” กันแน่ แม้ว่าทางร้านอาจจะเคลมว่าสินค้าตัวเองเป็นสุกี้ไม่ก็ชาบู แต่ตามหลักแล้วคนญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของสูตรจริง ๆ เขาใช้เกณฑ์อะไรแบ่งประเภทหม้อไฟ วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก

‘สุกี้’ ‘ชาบู’ ต่างกันอย่างไร? หาคำตอบได้ที่นี่

Advertisements

จุดเริ่มต้นของ “สุกี้” “ชาบู” มาจากหม้อไฟที่เรียกว่า ‘นาเบะ’

ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบว่า สุกี้ กับ ชาบู ต่างกันอย่างไรนั้น ต้องขออธิบายที่มาที่ไปของอาหารประเภทหม้อไฟกันก่อน เพราะอาหารประเภทนี้ถือเป็นจุดกำเนิดสำคัญที่แตกแขนงออกไปเป็นสุกี้และชาบูอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ซึ่งคำว่า นาเบะ (Nabe หรือ Nabemono) นั้นแปลว่า “หม้อไฟ” เป็นอาหารที่ใส่วัตถุดิบต่าง ๆ จำพวกผัก เห็ด เนื้อสัตว์ เต้าหู้ รวมไปถึงเส้นต่าง ๆ ลงไปในหม้อต้มเดียวกัน และรับประทานในหม้อนั้นเลย

โดยนาเบะ หรือ หม้อไฟ ของชาวญี่ปุ่นนั้นก็ถูกดัดแปลงไปเป็นอาหารประเภทหม้อไฟในลักษณะอื่น ๆ อีกมากมาย โดยหนึ่งในนั้นเป็น สุกี้ และ ชาบู

โดยแต่เดิมนั้น อาหารประเภทหม้อไฟ หรือ นาเบะ ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันอยู่ มีประวัติศาสตร์การเดินที่ยาวนานมาจากประเทศ “มองโกเลีย” เนื่องจากพื้นที่ในแถบนั้นมีอากาศหนาวจัด จึงทำให้ลักษณะการทำอาหารแบบต้มรวมกันในหม้อเป็นที่นิยมมาก เพราะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ดี

Advertisements

จากนั้นวัฒนธรรมการกินหม้อไฟแบบชาวมองโกลก็เริ่มเดินทางเข้าสู่ประเทศจีน ผ่านสิบสองปันนา ยูนนาน กวางตุ้ง จนกระทั่งมาถึงประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

สุกี้ กับ นาเบะ

‘สุกี้’ หรือ ‘สุกี้ยากี้’ หม้อไฟรวมวัตถุดิบแน่น ๆ

สุกี้ หรือ สุกี้ยากี้ (Sukiyaki) ก็เป็นหนึ่งในหม้อไฟที่เรียกว่า “Nabemono” หรือการต้มทุกอย่างลงในหม้อเดียวกัน โดยขั้นตอนแรกในการทำสุกี้จะนำเนื้อสัตว์ไปผัดกับต้นหอมก่อน แล้วจึงใส่วัตถุดิบอื่น ๆ ตามลงไป ปิดท้ายด้วยการเติมน้ำซุป

ส่วนซุปก็จะทำมาจากโชยุเป็นหลัก จึงทำให้น้ำสุกี้มีลักษณะเป็นน้ำตาลเข้มเกือบดำ และด้วยวิธีการปรุงเนื้อให้สุกผ่านการผัดและการต้ม จึงทำให้เนื้อของสุกี้นั้นมีลักษณะชิ้นใหญ่ และเมื่อทุกอย่างสุกแล้วก็จะนำมาทานร่วมไข่ดิบที่ตีไว้

และเนื่องด้วยคนญี่ปุ่นจะปรุงสุกี้ผ่าน “หม้อเหล็กทรงตื้น” จึงทำให้ดูเหมือนว่าสุกี้จะเป็นอาหารที่น้ำซุปไม่เยอะมากจนท่วมวัตถุดิบทั้งหมด อีกทั้งส่วนผสมของน้ำซุปที่มีทั้งโชยุ มิริน สาเก และน้ำตาล ยังทำให้สุกี้เป็นอาหารที่ค่อนข้างรสจัด เวลารับประทานจึงไม่นิยมซดน้ำซุปกัน

สุกี้ คือ

‘ชาบู’ หรือ ‘ชาบูชาบู’ เน้นจุ่ม จิ้ม แล้วกินเลย

ชาบู หรือ ชาบูชาบู (Shabu-Shabu) ก็เป็นอาหารประเภทหม้อไฟอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน โดยชาบู (อย่างที่คนไทยเรียก) เป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้ง 2 วิธีการรับประทานนั้นจะไม่เหมือนสุกี้ เพราะไม่ต้มวัตถุดิบทุกอย่างรวมกัน แต่จะนำผักลงไปต้มในน้ำก่อน

จากนั้นจึงจะนำเนื้อสัตว์ที่ผ่านการสไลซ์บาง ๆ มาแกว่ง ๆ ในน้ำซุป จิ้มน้ำจิ้ม และรับประทานได้เลย ซึ่งลักษณะการนำเนื้อสัตว์สไลซ์มาวน ๆ หมุน ๆ ในน้ำซุปนี้เองจึงทำให้อาหารประเภทนี้ถูกเรียกว่า “ชาบูชาบู” เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากการหมุน ๆ วน ๆ)

นอกจากลักษณะการปรุงให้สุกแล้ว น้ำซุปของชาบูก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่แตกต่างจากสุกี้ เนื่องด้วยการทำชาบูต้องใช้ “หม้อก้นลึก” เพื่อให้สามารถใส่น้ำซุปแล้วมีพื้นที่จุ่มเนื้อสัตว์จนสุกได้ โดยน้ำซุปชาบูก็จะปรุงรสด้วยสาหร่ายและปลาโอเป็นหลัก ทำให้ได้น้ำซุปสีใส รสชาติกลมกล่อมสามารถซดระหว่างรับประทานเนื้อสัตว์และผักได้

นอกจากนี้ การกินชาบูยังนิยมจิ้มน้ำจิ้มอีกด้วย ซึ่งจะเสิร์ฟมาให้ประมาณ 2-3 แบบ เช่น น้ำจิ้ม Hatsuga Genmai ทำมาจากข้าวกล้องงอก น้ำจิ้ม Ponzu ทำจากเลมอน น้ำส้มสายชู ซอสถั่วเหลือง เหล้ามิริน น้ำจิ้ม Goma-dare ทำมางาขาวที่มีกลิ่นหอม รสชาติหวานมัน เป็นต้น

ชาบู คือ

สุกี้ และ ชาบู ความแตกต่างที่รสชาติอร่อยเหมือนกัน

แม้ว่าอาหารทั้ง 2 อย่างจะมีลักษณะการปรุงแบบต้มในหม้อเหมือนกัน แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นก็ยังแตกต่างกันอยู่มาก โดยสุกี้จะเป็นการต้มทุกอย่างรวมกัน เน้นน้ำขลุกขลิก รสชาติเข้มข้น ไม่จิ้มน้ำจิ้ม ส่วนชาบูจะต้มผักก่อน เมื่อน้ำเดือดจึงค่อยเนื้อสัตว์มาแกว่งน้ำให้สุก สามารถซดน้ำซุปได้ และรับประทานแบบจิ้มน้ำจิ้ม

ใครที่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง สุกี้ กับ ชาบู แล้วแต่ยังสงสัยว่าทำไมร้านสุกี้ในไทยบางแบรนด์ถึงมีลักษณะไม่ตรงตามข้อมูลที่อ่านไป ก็ไม่ต้องตำหนิต่อว่าที่เขาทำไม่ตรงปก เพราะอาหารนั้นเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ๆ

และอย่างได้บอกไปแล้วว่าจุดเริ่มต้นของอาหารประเภท “หม้อไฟ” นั้นก็ไม่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่นหรือจีนโดยตรง ทุกอย่างผ่านการเดินทางแทรกซึมเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ผสมปนเปไปกับวัฒนธรรมต่างถิ่น และปรับให้เข้ากับคนในพื้นที่ ดังนั้นถ้าเราจะเห็น “สุกี้ใส” หรือ “ชาบูน้ำดำ” ในประเทศไทย ก็ไม่ต้องแปลกใจกันล่ะ

สุกี้ ไทย

อ้างอิง : 1 2 3 4

เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล


? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger

? Google Play Store
? App Store

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button