สุขภาพและการแพทย์

โรคโปรตีนรั่วคืออะไร ทำไมลูกน้อยตัวบวม พ่อแม่ต้องอ่าน!

หลายคนอาจสงสัยว่า โรคโปรตีนรั่วคืออะไร เพราะโรคนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนัก แต่เป็นโรคที่พบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อน้อง ๆ หนู ๆ มาก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องสังเกตความผิดปกติของลูกน้อยให้ดี เพื่อที่จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวว่าเป็นโรคอะไร มีอาการอย่างไร และสามารถรักษาได้อย่าไงบ้าง ตามไปอ่านพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า

อาการตัวบวม

Advertisements

โรคโปรตีนรั่วมีสาเหตุมาจากอะไร

โรคโปรตีนรั่ว หรือ อาการโปรตีนรั่ว สามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “อาการเนฟโฟรติก” (Nephrotic Syndrome) หรือ “ไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ” ลักษณะของอาการคือ จะมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ นับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการของโรคไต และเพราะว่าร่างกายขับโปรตีนออกมาทางปัสสาวะเป็นจำนวนมากจึงทำให้ร่างกายมีอาการบวมน้ำ

ซึ่งกลุ่มอาการนี้พบว่าเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนมากนั้นจะพบในเด็กที่มีอายุ 2-5 ขวบ และพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่ก็พบว่าในผู้ป่วยบางรายนั้นเป็นโรคนี้จากความเกี่ยวเนื่องทางพันธุกรรม

อาการของโรคโปรตีนรั่ว

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคโปรตีนรั่วนั้นจะมีอาการบวมน้ำดังที่ได้บอกไปแล้ว ซึ่งส่งผลให้หนังตา ขา เท้า อวัยวะเพศ และท้อง โตหรือบวมขึ้นมาได้ สาเหตุนั้นมาจากการที่โปรตีนชนิดแอลบูลมินในเลือดลดต่ำลง บางรายอาจมีอาการปัสสาวะเป็นฟอง

Advertisements

นอกจากนี้ยังเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีกด้วย ทั้งปัสสาวะลดลง ทำให้เกิดเป็นโรคไตเรื้อรัง อาจมีน้ำในช่องปอดและช่องท้อง ส่งผลให้หายใจไม่สะดวก นอกจากนี้ยังส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง อาจติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่าย และที่สำคัญส่งผลให้เลือดข้นหนืด อันก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

การรักษาโรคโปรตีนรั่ว

กระบวนการรักษาอาการโปรตีนรั่วนั้นจะรักษาไปตามสาเหตุของการเกิดโรค โดยจะใช้ยาในการรักษาตามอาการดังนี้

  • ใช้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดอาการบวม โดยช่วยให้ไตระบายของเหลวส่วนเกินออกมา
  • ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อลดการอักเสบของโรคบางชนิดที่ก่อให้เกิดภาวะดังกล่าว
  • ใช้ยาลดคอเลสเตอรอล เพื่อลดคอเลสเตอรอลในร่างกายให้ไม่สูงจนเกินไป
  • ใช้ยาควบคุมความดันโลหิต เพื่อลดความดันโลหิตและลดปริมาณโปรตีนที่ออกมาในปัสสาวะ
  • ใช้ยาเจือจางเลือด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เนื่องจากเลือดมีความข้นหนืดมากเกินไป

นอกจากการให้ยาของแพทย์แล้ว ผู้ป่วยเองก็ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดหรือเพิ่มยาเอง เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ และถ้าหากมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายก็ควรพบแพทย์ในทันที เพื่อให้สามารถวางแผนในการรักษาต่อไปได้อย่างถูกวิธี

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นโรคโปรตีนรั่ว

หากใครที่กำลังประสบกับโรคโปรตีนรั่วอยู่ นอกจากการรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันก็มีส่วนช่วยให้อาการของโรคดังกล่าวทุเลาขึ้นได้ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้

  1. ขยับร่างกายบ่อย ๆ หรือออกกำลังกายแบบเบา ๆ
  2. รับประทานอาหารที่โปรตีนให้เพียงพอ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เป็นต้น
  3. ห้ามรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีค่าโซเดียมสูง
  4. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกายบ่อย ๆ

แม้ว่าส่วนมากแล้วโรคโปรตีนรั่วจะเกิดขึ้นในเด็กก็ตาม แต่ผู้ใหญ่ก็อาจเป็นโรคนี้ได้มากถึง 30% ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคนั้นมาจากความผิดปกติของโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว คือโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ดังนั้นไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตามควรดูแลรักษาสุขภาพให้ดี

ไข่ขาวในปัสสาวะ

คงหายสงสัยกันแล้วใช่ไหมล่ะว่า โรคโปรตีนรั่วคืออะไร จากข้อมูลที่มีนั้นนับได้ว่าเป็นโรคที่อันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมาก ทั้งจากภาวะของการเกิดโรคเอง และจากการเกิดโรคแทรกซ้อน ดังนั้นเราควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเองให้ดี และยิ่งโรคนี้มักจะเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ผู้ปกครองก็มีหน้าที่ที่ต้องดูแลเอาใจใส่สุขภาพของบุตรหลานให้มาก ๆ ก่อนที่จะสายเกินแก้

 

อ้างอิง : 1 2 3 4

 

เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล


? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger

? Google Play Store
? App Store

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button